3 พระอรหันต์ ไตรภาคีมหาลาภ
ในบรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลายผู้ได้รับการยกย่องจากพระศาสดาและมหาชนว่าเป็นเลิศในด้านมหาลากนั้นคงไม่พ้น 3 องค์อรหันต์ อันได้แก่ พระสีวลี พระมหากัจจายนะ และพระอุปคุต
พระสีวลีเถระ
ท่านเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จำเดิมแต่พระราชโอรส มาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ทำพระมารดาให้สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก
ท่านอยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน (เพราะบุรพกรรมในอดีตชาติ เคยปฏิบัติตามคำแนะนำของมารดา โดยให้กองทัพปิดล้อมเมืองหนึ่ง ทำให้ประชาชนเมืองนั้นเดือดร้อนอดอยาก) จึงประสูติ เวลาประสูติก็ประสูติง่ายที่สุด เปรียบประดุจน้ำไหลออกจากหม้อ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ
กล่าวคือ เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ ครบกำหนดประสูติแล้ว ได้เสวยทุกขเวทนาลำบากมาก พระนางจึงให้พระสวามีบังคมทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสพระราชทานให้พรว่า พระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด
พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตร พร้อมกับขณะที่พระศาสดาตรัสพระราชทานพร เมื่อประสูติแล้วพระญาติได้ขนานพระนามว่า “สีวลีกุมาร” เพราะระงับจิตที่เร่าร้อน ของพระประยูรญาติทั้งหมด
ส่วนพระนางสุปปาวาสา นึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วัน จึงให้พระสวามีไปอาราธนานิมนต์ พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อรับภัตตาหารในบ้าน ๗ วัน พระราชสวามี ก็ไปตามความประสงค์ของนาง แล้วได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน (สีวลีกุมารนั้น นับตั้งแต่วันที่ประสูติ ได้ถือธมกรกกรองน้ำถวายพระตลอด ๗ วัน)
เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ออกผนวชในสำนักของท่านพระสารีบุตร ได้บรรลุผลสมตามความปรารถนา คือ ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคลในพระพุทธศาสนา
บรรลุพระอรหันต์เร็ว
สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อ โกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็น พระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย ด้วยอำนาจ บุญบารมีของท่านที่สั่งสมมา ลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกท่านอื่น ๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามี พระสีวลี ร่วมเดินทางไป ด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย
พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุอาศัยบุญพระสีวลี
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า…..
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่ อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วย ภิกขาจาร”
พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า:- “ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเสวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ ตรัสว่า:- “ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหาร บิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหาร บิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของ พระสีวลี นั้นด้วย”
ได้รับยกย่องในทางผู้มีลาภมาก
ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผล ให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิ ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านใน ตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก
คาถาบูชาพระสีวลี
สีวะลี จะ มะหาเถโร เทวะตา นะระปูชิโต
โสระโห ปัจจะยาทิมหิ อะหัง วันทามิ สัพพะทา
สีวะลี จะ มะหาเถโร ยักขาเทวาภิปูชิโต
โสระโห ปัจจะยาทิมหิ อะหัง วันทามิ สัพพะทา
สีวะลีเถระคุณัง เอตัง โสตถิ ลาภัง ภะวันตุ เม
พระมหากัจจายนเถระ
ท่านพระมหากัจจายนเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อว่า กัญจนโคตร หรือ กัจจายนโคตร ปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วได้รับตำแหน่งเป็นปุโรหิตแทนบิดา
ครั้นกาลต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จโปรดสั่งสอนประชาชนอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม
มีพระราชประสงค์ จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดา ไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ เรียนจบไตรเพท ไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารเจ็ดคน
ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในเวลาจบเทศนาได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท
พระบรมศาสดา ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดารับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านจึงพร้อมด้วยบริวารเจ็ดองค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโช ตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว กลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีก
ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่นในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร (ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะกล่าวถึงบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ) โดยย่อแล้ว เสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อ ให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดาร แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้น
ภิกษุเหล่านั้น ลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสสรรเสริญ พระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็คงแก้ เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรม ที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น เป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ด้วยเหตุนี้
เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร
ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร คือ มธุปิณฑิกสูตร กัจจายนเปยยาลสูตร ปรายนสูตร ให้เป็นอุปัตติเหตุ แล้วทรงสถาปนาพระเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัส ที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดาร (วิตฺถาเรน อตฺถํ วิภชนฺตานํ)
คาถาบูชาพระมหากัจจายนะ
กัจจายนะ จะ มหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญ จะ พุทธะสุภาสิตัง พุทธะตัง สะมะนุปปัตโต พุทธะ โชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวะ มะนุสสานัง ปิโยพรหม นะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโส ชะนา อิถีชะนา ราชาภาคินิ จิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมามะฯ
พระอุปคุตเถระ
พระอุปคุตเถระเป็นพระสาวกยุคหลังพุทธกาล (ที่เรียกว่าพระสาวกในบทนี้ เพราะถือว่าท่านเป็นพระอริยบุคคล สมดังในบทสังฆคุณว่า จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า)
ผมไม่แน่ใจว่าประวัติของพระอุปคุตปรากฏอยู่ในคัมภีร์เล่มใด เข้าใจว่าคัมภีร์มหาวงศ์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอโศกมหาราช บางท่านกล่าวว่า แท้จริงแล้ว พระอุปคุตเป็นองค์เดียวกันกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ แต่ถูกแต่งเติมด้วยความเชื่อกลายเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ มา ในส่วนของประวัติพระอุปคุตนี้เป็นความรู้ที่ผมนำมาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ครับ
มีความเชื่อกันว่า พระอุปคุตนั้นมีอิทธิฤทธิ์ในด้านปราบพระยามาร ซึ่งมีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังจากพุทธปรินิพพาน ในนครปาตลีบุตราชธานี พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงสร้างพระสถูปไว้มากมาย กล่าวกันว่า 84,000 องค์ เมื่อพระองค์จะฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้วหมดอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่เกรงว่าจะถูกพระยามารมาทำลายงานราชพิธี พระองค์ท่านจึงได้ทำการปรึกษาคณะสงฆ์ ทางคณะสงฆ์ทั้งหมดมีมติให้นิมนต์พระอุปคุตจากสะดือทะเลมาในพิธีเพื่อปราบพระยามาร และท่านทำได้สำเร็จ เนื่องจากพระอุปคุตท่านจำพรรษาอยู่ที่ท้องทะเลเป็นปกติ จึงเรียกท่านอีกนามหนึ่งตามภาษาท้องถิ่นเราว่า “พระบัวเข็ม”
คาถาบูชาพระอุปคุตเถระ
กิจจะมาคะอุปคุตโต อะมะหาเถโร สัมพุทเธวิยาคะโต มาระรัญจะ โสอิทานิ จะมะหาเถโร นะมัดปะสิทตะวาปะ ถิติโกอหัง วันทามิ พาเนวะอุปคุตตัง จะมะ หาเถรัง ยังยังอุปัทธะวังชาติ วิทังเสนติ อะเสสะโต นโมพุทธายะ
ที่มา : www.thammapedia.com