เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในประวัติของพระเรวตขทิรวนิยเถระ ดังมีเนื้อความว่า
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรเถระกราบทูลลาพระบรมศาสดาเพื่อไปเยี่ยม
พระเรวตะอีกครั้ง พระบรมศาสดารับสั่งว่าจะเสด็จไปด้วย และทรงมีรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ รูปให้เตรียมตัวเดินทางไปด้วยกัน
เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเป็นบริวารเสด็จดำเนินมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระจึงได้กราบทูลว่า:-
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หนทางไปสำนักของพระเรวตะนั้น ทางนี้เป็นทางอ้อมประมาณ ๖๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์สะดวกแก่การภิกขาจาร ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นทางตรงประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เป็นถิ่นที่อยู่ของอมนุษย์ พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วยภิกขาจาร พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามพระอานนท์เถระว่า:-
“อานนท์ สีวลีมากับพวกเราหรือเปล่า ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสีวลีมาด้วยพระเจ้าข้า”
“อานนท์ ถ้าอย่างนั้น ก็จงไปทางตรงนั่นแหละ”
การที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งเช่นนั้น ก็เพราะพระองค์ทรงทราบว่า เทวดาทั้งหลายในระหว่างหนทางนั้น จะพากันจัดที่พักและอาหารบิณฑบาตถวายพระสีวลี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน บรรดาพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุขก็จะไม่ลำบากด้วยภิกขาจาร และสถานที่พัก ด้วยอาศัยบุญของพระสีวลีนั้น
จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง หมู่เทวดาได้เนรมิตพระนครในที่ทุก ๆ โยชน์ ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับและที่อยู่แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
พวกเทวบุตร ได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น ไปเที่ยวถามอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน ดังนี้แล้ว จึงไปหาพระเถระ พระเถระจึงให้นำเอาสักการะและสัมมมานะเหล่านั้นไปถวายพระศาสดา พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์
เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวารเหล่านั้นเสด็จมาใกล้จะถึงแล้ว พระเรวตะแสดงฤทธิ์เนรมิตป่าเป็นพระคันธกุฎี สำหรับพระผู้มีพระภาค และเนรมิตสถานที่จงกรมพร้อมด้วยสถานที่พักกลางคืนและกลางวันเพื่อความสะดวกและผาสุกแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ตามเสด็จมาด้วยอีกอย่างละ ๕๐๐ แห่ง แล้วออกไปถวายการต้อนรับนำเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฏี
พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เป็นเวลา ๑ เดือน จึงเสด็จกลับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับแล้ว พระเรวตเถระจึงคลายฤทธิ์ สถานที่นั้นก็กลับกลายเป็นสภาพป่าไม้ตะเคียนตามเดิม
ที่มา :
พระเรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า
ประวัติพระสีวลีเถระ เอตทัคคะผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีลาภ
ในเรื่องนี้ พระอาจารย์บางท่านอธิบายว่า แท้จริงแล้ว พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ และทรงมีพระประสงค์จะยังบารมีของพระเถระนั้นให้ปรากฏ เพื่อจะทรงประกาศเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก อันเป็นความปรารถนาของท่านในอดีต เรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ในครั้งนั้น ท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสาวกของพระองค์ชื่อว่าสุทัสสนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีลาภมาก ดังนั้น ท่านปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้นิมนต์พระชินสีห์พร้อมด้วยพระสาวกให้เสวยและฉันภัตตาหารถึง ๗ วัน ครั้นถวายมหาทานแล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภในอนาคตกาล พระปทุมุตตระบรมศาสดา จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ
หมายเหตุ
ปัจจัย หมายถึงปัจจัยเครื่องบริโภคใช้สอยทั้ง ๔ ได้แก่ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม), บิณฑบาต (อาหาร), เสนาสนะ (ที่พักอาศัย), เภสัช (ยารักษาโรค)
๑ โยชน์ เท่ากับ (ประมาณ) ๑๖ กิโลเมตร
๓๐ โยชน์ เท่ากับ (ประมาณ) ๔๘๐ กิโลเมตร
๖๐ โยชน์ เท่ากับ (ประมาณ) ๙๖๐ กิโลเมตร