ลพบุรีไม่ได้มีแต่เนื้อชินอย่างเช่นพระหูยาน หรือพระสามเท่านั้น แต่มีพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากและหลากหลายเนื้อ หนึ่งในนั้นก็คือ พระหลวงพ่อจุก พระเนื้อดิน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
พระหลวงพ่อจุก ฟังดูเหมือนชื่อเรียกพระสงฆ์ แต่เป็นนามเรียกพระพิมพ์พระพุทธ เนื้อดิน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี มีอายุไม่ได้น้อยกว่า 800 ปี แตกกรุออกมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2430-2508 สันนิษฐานว่าน่าจะมีหลุดออกมาจากกรุก่อนหน้านี้บ้างแล้ว
พระหลวงพ่อจุก มีพุทธศิลป์แบบปาละของอินเดีย องค์พระมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความกว้างประมาณ 3 ซม. ความสูงประมาณ 6 ซม. ประทับนั่งปางสมาธิราบ มองดูสงบนิ่ง น่่าเกรงขาม ด้านหลังแบนเรียบ บางองค์พบว่ามีรอยปาดด้วยของมีคม บางองค์พบว่ามีรอยมือ ที่พิเศษกว่านั้น คือ บางองค์พบว่ารอยจาร ยันต์เกือกม้าโบราณอีกด้วย พระเกศขมวดเป็น “จุก” ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกตามพุทธลักษณะที่เห็นว่า “พระหลวงพ่อจุก” พระพักตร์มีความอิ่มเอิบ พระนาสิก พระโอษฐ์ พระเนตร มีความคมชัดเจนมาก (ยกเว้นองค์ที่หลุดเพราะถูกสัมผัส) พระกรรณยาวลงมาชิดพระอังสา พระอุระ ยืดผึ่งผายน่าเกรงขามยิ่งนัก
พุทธคุณ พระหลวงพ่อจุก
พระสมัยโบราณ มีความโด่นเด่นในด้าน แคล้วคลาด คุ้มครองป้องกันภัย ซึ่งความแคล้วคลาดหรือการคุ้มครองนั้นจะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ของผู้บูชาเอง บางคนมีประสบการณ์ถึงขั้นปืนยิงไม่ออก ยิงออกแต่ไม่ถูก หรือยิงถูกแต่ไม่เข้า หรือยิงเข้าแต่ไม่บาดเจ็บมากหรือไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับพระหลวงพ่อจุกมีผู้กล่าวถึงประสบการณ์ว่า ” ปืนไม่ดัง หนังไม่ถลอก” หมายถึงยิงไม่ออก หรือออกก็ไม่สามารถทำอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาพประกอบบทความเท่านั้น ไม่สามารถอ้างอิงความแท้ไม่แท้ได้