ตอนสมัยเด็ก ๆ ผมเคยถามหลวงตาที่วัดบ้านนอกว่า “หลวงตาครับ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ปลงผม มียอดแหลมบนหัว” (เป็นคำถามแบบเด็ก ๆ จึงไม่ได้ใช้คำศัพท์อะไรมากมาย) ท่านก็ตอบแบบผ่าน ๆ ว่า เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ถ้าเช่นนั้นทุกคนก็เป็นพระพุทธเจ้าสิ” ผมมาคิดย้อนหลังแล้ว คำตอบนี้ก็ไม่ผิดนะครับ
ผมว่าการช่างทำพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระปฏิมาหรือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าทำไมพระพุทธรูปมีพระเกตุมาลายอดแหลม หรือมีพระเศียรแหลมนั้น เป็นความฉลาดของช่างใหม่ก่อน อันดับแรกเลยทำให้รู้ว่านี่คือพระพุทธรูป ถ้ามีพระเกตุมาลาจะเป็นยอดแหลมเปลวเพลิงหรือดอกบัวตูมก็ตาม รู้ได้ทันทีว่านี่คือพระพุทธรูป ผ่านไปร้อยปีพันปีไม่มีชื่อเขียนไว้ก็รู้ว่าคือพระพุทธรูป แต่ถ้าทำพระเศียรกลมหมดจะทำให้สังเกตยากว่าเป็นรูปพพระพุทธสาวก หรือพระพุทธรูป
อีกประการหนึ่ง พระเกตุมาลายอดแหลมนั้น สื่อความหมายว่า ในด้านสติปัญญาของพระองค์เป็นหนึ่งรู้แจ้งแทงตลอด หากเป็นเปลวเพลิงสื่อความหมายถึงเครื่องเผากิเลส หรือแสงสว่างคือปัญญา
นอกจากองค์ประกอบอื่น ๆ ของพระพุทธรูปยังสื่อความหมายอื่น ๆ ได้อีกด้วย เป็นต้นว่า
๑. พระเกศา (เส้นผม) บนพระเศียร (ศีรษะ) ขมวดปมเป็นรูปก้นหอย หมายถึงสติปัญญาที่ใช้แก้ไขปมปัญหาหรือปมทุกข์ต่าง ๆ
๒. เปลวไฟบนพระเศียร หมายถึงการเผาผลาญกิเลส
๓. ยอดแหลมของพระเศียร เปรียบได้กับสติปัญญาอันเฉียบแหลม
๔. พระเนตร (ดวงตา) มองต่ำ หมายถึงให้พิจารณาตนเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน
๕. พระนาสิก (จมูก) โด่ง เปรียบได้กับขันติบารมีอันเปี่ยมล้น
๖. พระโอษฐ์ (ปาก) ยิ้มละมัย เปรียบได้กับน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์
๗. พระกรรณ (หู) ยาว เปรียบได้กับความหนักแน่นมั่นคง
๘. พระหัตถ์ (มือ) แบ เปรียบได้กับการปล่อยวางและการเสียสละ
๙. นิ้วพระบาท (นิ้วเท้า) เสมอกัน เปรียบได้กับการประคับประคองจิตใจให้สม่ำเสมอ หรือพรหมวิหารสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอยู่ด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา