ผมมีความสงสัยมานานแล้ว คาถาหัวใจพระสีวลี “นะ ชา ลิ ติ” ย่อมาจากบทไหน ทีแรกเข้าใจว่าย่อมาจากคาถาบูชาพระสีวลี แต่ก็ไม่ใช่ ไม่สามารถถอดคำย่อออกมาเป็น คาถาหัวใจพระสีวลี “นะ ชา ลิ ติ” ได้ จนผมพบงานวิจัยของอาจารย์ของธีรโชติ เกิดแก้ว มีชื่อว่า การศึกษาอักษรย่อในคัมภีร์หัวใจ108 ในฐานะสื่อการสอนพระพุทธศาสนา ซึ่งผมขอนำมาสรุปย่อให้กระชับในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถอ่านงานวิจัยตัวเต็มตามลิงค์ที่ผมทำไว้ครับ
นะ ชา ลี ติ คือ คาถา อะไร
นะ ชา ลี ติ ถูกใช้เป็นคาถาสำหรับบูชาพระสีวลี หรือเรียกกันว่าคาถาหัวใจพระสีวลี
พระสีวลีเป็นพระสาวกในสมัยพุทธกาลผู้ได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายในด้านผู้มีลาภมาก ลาภในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าท่านสะสมสิ่งของเครื่องใช้ แต่หมายความว่าท่านอยู่ที่ใด ไปที่ใดไม่ติดขัดด้วยปัจจัยสี่อันเป็นเครื่องใช้โดยปกติของคนเรา
คาถาหัวใจพระสีวลี
นะ ชา ลิ ติ
ชื่อของหัวใจคาถานี้พระสีวลีนี้ สื่อถึงพระสาวกรูปสำคัญรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลผู้เป็นเลิศในด้านผู้มีลาภสักการะมาก ตัวคาถาสื่อถึงธารณปริตร ซึ่งเป็นปริตรที่มีอานุภาพด้านป้องกันอันตรายและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
อักษรย่อ ศัพท์เต็ม และความหมาย นะ ชา ลิ ติ
น มาจาก น สกฺกา แปลว่า ใคร ๆ ไม่สามารถ (ทําอันตรายแก่ชีวิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้)
ชา มาจาก ชาโล แปลว่า ข่ายคือปัญญา (ของพระพุทธเจ้า)
ลิ มาจาก ชาลิเต แปลว่า เมื่อรัศมีของพระพุทธเจ้ารุ่งเรือง
ติ มาจาก ธารณีติ เป็นคําสรุปสุดท้ายข้อความธารณปริตร “ชาโล มะหาชาโล ชาละ มหาชาละ ชาลิเต มหาชาลิเต … ธาระณี ธาระณีติ อิทัง ธาระณะปริตตัง”
พุทธคุณของคาถาหัวใจพระสีวลี
เด่นในด้านโชคลาภตามบารมีหรือคุณสมบัติของพระสีวลี แต่หากกล่าวโดยคาถาเองแล้ว คาถาหัวใจพระสีวลีนี้มีพุทธคุณมากกว่านั้น
- น สกฺกา ป้องกันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
- ชาโล ส่งเสริมด้านสติปัญญา ส่งเสริมความจำ ส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งเสริมแนวทางการดำเนินชีวิต หรือใช้เป็นแสงสว่างแห่งชีวิต
- ชาลิเต มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม เป็นที่รักแก่ผู้พบเห็นทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และพุทธคุณนี้แหล่ะ เป็นที่มาแห่งลาภสักการะทั้งหลาย
- ติ มาจาก ธารณีติ เป็นการเสริมพุทธคุณข้างต้นให้หนักแน่นขึ้น ให้มีกำลังเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ส่งผลเจาะจงเร็วขึ้น
พระสีวลี คนไทยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระฉิมพลี ฉะนั้น นะ ชา ลี ติ คาถาหัวใจพระฉิมพลีก็เรียก
นะชาลีติ ตามความหมายของหลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร
นะ ย่อมาจาก นะโม หมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่วางตนเหนือผู้อื่น ไม่ดูถูกใคร และน้อมรับฟังคำตำหนิจากผู้อื่นอยู่เสมอ
ชา ย่อมาจาก ชาคริยานุโยค หมายถึงเป็นผู้ที่ตื่นเช้า มีความขยันขันแข็ง มีความพากเพียร
ลี ย่อมาจาก ลีฬหะ หมายถึงผู้ที่มุ่งมั่นทำงานที่ชอบ ไม่ทุจริต และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
ติ ย่อมาจาก อิติ ศัพท์ หมายถึงดังนี้ เป็นการสรุปความข้างต้นทั้งหมดว่าเป็นดังที่กล่าวมา (อธิบายเพิ่มเติม เหมือนคาถาที่พระท่านนำมาเทศน์จะลงท้ายด้วย อิติ เช่น สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโยติ )
ที่มา : บรมครู พ่อปู่ฤาษี วิศวามิตร ขอบคุณ luangporguay.com
บทความแนะนำ…พระคาถา หัวใจ ๑๐๘ คือเป็นหัวใจธาตุ คาถา สูตรต่าง ๆ ที่ท่านย่อมา