พระพุทธชินราช หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
พระราชธรรมาภรณ์ หรือ หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม จังหวัดนตรปฐม ได้จัดสร้างเหรียญหล่อพระพุทธชินราชพิมพ์เข่าลอยขึ้นในปีเดียวกันกับที่มีการหล่อพระพุทธศรีทักษิณานุสรณ์ซึ่งเป็นพระประธานองค์ใหม่เพื่อประดิษฐานในอุโบสถของทางวัด
วัตถุประสงค์ในการสร้างพระพุทธชินราชเข่าลอยเพื่อมอบให้กับผู้บริจาคทรัพย์ในการสร้างอุโบสถวัดดอนยายหอม ซึ่งทางวัดได้มอบให้ทางโรงงานหล่อพระเป็นผู้จัดสร้างขึ้น โดยมีนายช่างสนิท เปาวโร (ช่างผูู้หล่อพระประธานโบสถ์) เป็นผู้แกะแบบพิมพ์องค์พระและหล่อพระขึ้นมา ทำให้พระพุทธชินราชเข่าลอยนั้นมีรูปลักษณะพิมพ์ทรงและการหล่อที่งดงามกว่าชินราชเข่าจมเป็นอย่างมาก
เหตุที่เรียกกันว่าพระพุทธชินราชเข่าลอยนั้น เนื่องจากก่อนที่จะมีการจัดสร้างพระพุทธชินราชเข่าลอยขึ้นนั้น หลวงพ่อเงินได้จัดสร้างพระพุทธชินราชหล่อเนื้อทองผสมขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการหล่อพระขึ้นมาเองภายในวัด เป็นแบบศิลปะนูนต่ำ แต่พระพุทธชินราชเข่าลอยที่ให้ทางโรงงานจัดสร้างขึ้นมานั้นเป็นแบบศิลปะนูนสูง ในส่วนที่แตกต่างกันมากที่สุดก็คือบริเวณเข่าขององค์พระพุทธชินราช
พระพุทธชินราชที่สร้างจากโรงงานนั้นดูจะลึก โดยส่วนของเข่าจะยกตัวสูงจากพื้นเหรียญมาก จึงเรียกว่าพระพุทธชินราชเข่าลอย ส่วนพระพุทธชินราชพิมพ์ที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นมาก่อนนั้นจึงถูกเรียกว่าพระพุทธชินราชเข่าจม
พระพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชเข่าลอยนั้น ด้านหน้าเป็นพระพุทธชินราช คือเป็นองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือฐานบัว มีเปลวพระรัศมีลายกนกปกคลุม แสดงศิลปะแบบนูนสูงอย่างสวยงาม เอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งคือพระพิมพ์นี้จะมีรอยแตกที่ขอบเหรียญด้านขวาองค์พระ คล้ายกับตัว ส. เสือ บางองค์อาจมีทั้งสองด้าน แต่ทางด้านซ้ายขององค์พระส่วนมากจะไม่ชัดและดูไม่เหมือน ส.เสือ มากนัก
ด้านหลังจะมียันต์ทั้งหมด 4 ตัว คือ ตัวอุณาโลมอยู่บนสุด ตัว มิ อยู่ใต้อุณาโลม และแถวสุดท้ายสองตัวคือตัว นะ นะ ซึ่งเป็นอักขระยันต์ 2 ตัวที่หลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม พระอาจารย์ของหลวงพ่อเงินใช้จารวัตถุมงคลของท่านอยู่หลายครั้ง จึงเชื่อกันว่าเป็นเหตุให้หลวงพ่อเงินใช้อักขระยันต์ 2 ตัวนี้สืบมาจากพระอาจารย์ ลักษณะรวมของเหรียญหล่อพระพุทธชินราชเข่าลอยจะเป็นรูปทรงน้ำเต้ายอดแหลม แบ่งเป็น 3 หยักหรือ 3 ชั้น
ในการหล่อพระพุทธชินราชเข่าลอยนั้น นายช่างสนิทได้จัดสร้างพิมพ์พระพุทธชินราชเข่าลอยแบบ 2 หน้าขึ้นมาเองโดยที่ทางวัดไม่ได้สั่ง คือจะมีพระพุทธชินราชแบบเดียวกันทั้งสองด้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นองค์เอกหรือองค์ยอดช่อ เนื่องจากการหล่อพระพุทธชินราชเข่าลอยนั้นเป็นการหล่อทั้งช่อ คือมีการขึ้นแบบหุ่นเทียนเป็นช่อ ๆ ก่อน มีท่อชนวนเพื่อเชื่อมต่อในการเดินโลหะ เมื่อเทโลหะหล่อเสร็จแล้วจึงทุบเบ้าออกแล้วจึงค่อยเคาะแยกออกเป็นองค์ ๆ ในภายหลัง สุดท้ายจึงทำการตะไบแต่งก้นเอาเดือยท่อชนวนโลหะให้เรียบร้อย แต่ในบางองค์ก็ไม่ได้ตะไบเดือยทิ้งก็มี
แม้จะมีการหล่อพระมาจากโรงงาน แต่ก็เป็นเนื้อโลหะผสมทำให้มีชนวนหลายประเภทที่ผสมกันอยู่ ผิวพรรณวรรณะขององค์พระจึงมีหลายสีหลายโทน ที่พบมากที่สุดคือผิววรรณะสีเหลืองออกคล้ำและมักจะมีคราบสีดำปกคลุมอยู่ ซึ่งผิวครามเบ้าสีดำนี้มักจะดูหนาและดูเหนอะ ส่วนสีผิวอื่น ๆ มีสีออกดำบางทีเรียกกันว่าเนื้อขันลงหิน เข้าใจว่าน่าจะเป็นเนื้อแก่เงินเมื่อเกิดสนิมจึงกลับดำมีน้ำทองลอย ส่วนอีกสีผิวหนึ่งเรียกกันว่าผิวก้านมะลิ ซึ่งผิวจะออกโซนก้านมะลิคือสีออกเขียวเข้มจัดใกล้เคียงสีดำแต่จะมีพรายเงิน ดูแล้วมีความสวยงามยิ่งนัก
ปัจจุบันพระพุทธชินราชเข่าลอยหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาขยับตัวขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากพระพุทธชินราชเข่าลอยไม่มีการแยกพิมพ์แยกบล็อก บรรดานักสะสมทั้งหลายจึงแยกกันที่สีขององค์พระตามความหายาก หากเป็นสีผิวก้านมะลิ สวย ๆ ว่ากันที่หลักแสน ในขณะที่ผิวดำหรือขันลงหินสวย ๆ ก็ว่ากันที่หลักหมื่นปลายถึงหลักแสน ส่วนสีผิวแบบทองเหลืองราคาอยู่ที่หมื่นกลาง ๆ ส่วนพระพุทธชินราชเข่าลอยพิมพ์สองซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระยอดช่อ ในหนึ่งช่อมีแค่หนึ่งองค์ว่ากันที่หลายแสนบาท
นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ทางวัดดอนยายหอมได้จัดสร้างพระพุทธชินราชเข่าลอยขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อบรรจุกล่องที่ระลึกในปี 2517 โดยนำเอาพระพุทธชินราชเข่าลอยยุคแรกไปถอดพิมพ์และหล่อขึ้นมาใหม่ ทำให้พระพุทธชินราชเข่าลอยยุคนี้ไม่มีความคมชัด หากมองเผิน ๆ โดยที่ไม่ทราบประวัติก็จะเข้าใจว่าเป็นพระไม่แท้ พระพุทธชินราชเข่าลอยรุ่นนี้เป็นเนื้อทองเหลือง ลงรักหรือยางสีดำบริเวณผิวพระ องค์พระจะไม่มีความคมชัด ไม่สวยงามเท่าพระพุทธชินราชเข่าลอยรุ่นแรก แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นพระแท้ พระที่ดีทันหลวงพ่อหลวงพ่อเงิน แต่ทุกวันนี้ราคาเช่าบูชายังถือว่าถูกมากเพียงหลักพันต้น ๆ อาจจะเพราะความไม่สวยของผิวพรรณองค์พระที่ส่วนใหญ่ดูดำและคล้ายพระเก๊นั่นเอง ขอขอบพระคุณพระครูวิมลสุทธิสาร หลวงพ่อพันธ์ วิสุทธิสาโร เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นผู้เมตตาให้ข้อมูล
ผมเว็บไซต์พระคุ้มครอง ขอขอบคุณ คุณ คุณทนายแจ็ค ซึ่งน่าจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูล ซึ่งผมนำมาจากนครปฐม ศรัทธาสะสม วัดดอนยายหอม โดยผมได้ตัดแต่งข้อความนิดหน่อย