หลวงพ่อแหยม วัดดอนพุทรา จ.นครปฐม ท่านได้เริ่มสร้างพระขุนแผนตั้งแต่ในราวปี พ.ศ. 2485 เรื่อยมาจนถึงประมาณปี พ.ศ.2500 โดยมวลสารที่ใช้สร้างเป็นเนื้อดินอาถรรพ์เหมือนกับพระขุนแผนของหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จังหวัดนครปฐม คือใช้เดินเจ็ดป่าช้า ดินเจ็ดโป่ง เจ็ดไร่ เจ็ดนา ไคลเสมา ดินขุยปู ผงวิเศษต่าง ๆ ว่าน 108 ประการ เถ้าอังคารกระดูก เป็นต้นในการสร้างพระขุนแผน
เนื้อพระขุนแผน หลวงพ่อแหยม แบ่งออกเป็นหลายเนื้อ มีเนื้อดินเผาซึ่งจะมีสีแดงอมน้ำตาล
เนื้อดินดำผสมด้วยผงใบลานเผา เนื้อดินดิบ และ เนื้อผงใบลานล้ว
พิมพ์ต่าง ๆ ของพระขุนแผน หลวงพ่อแหยมจะมีลักษณะเป็นพิมพ์ห้าเหลี่ยม องค์พระเป็นปางมารวิชัย แล พิมพ์ปางปลุกกุมาร แบบพนมมือนั่งขัดสมาธิเพชร ประทับนั่งบนฐาน ด้านล่างใต้ฐานเป็นกุมารนอน ส่วนด้านหลังขององค์พระขุนแผนจะมีรอยจารเปียก เป็นอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ อันประกอบด้วย พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ คือ“นะโมพุทธายะ” หัวใจแม่ธาตุทั้ง 4 คือ“นะ มะ พะ ทะ” หัวใจขุนแผน คือ “สุ นะ โม โล” ยันต์นะเทพรัญจวน ยันต์นะทรหด มะ อะ อุ อุ อะ มะ ฯลฯ
หลวงพ่อแหยม ท่านใช้เหล็กกับก้านธูปเป็นตัวจาร ในการจารแต่ละครั้ง แต่ละองค์ ก็จารยันต์ที่แตกต่างกันไป บางองค์จารตามกำลังวัน บางองค์จารยันต์ทั้งแปดทิศ แล้วแต่เจตนาของท่านเองในขณะนั้น เพราะท่านพิจารณาตามฤกษ์ยามกำลังวันในการจารว่าจะจารด้วยยันต์อักขระยันต์อะไร
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในการปลุกเสกพระขุนแผของหลวงพ่อแหยมแต่ละครั้งนั้น ท่านจะปลุกเสกจนกุมารที่นอนอยู่ใต้ฐานพระขุนแผนนั้นดิ้นส่ายไปส่ายมาได้ พลิกซ้ายที พลิกขวาที ท่านจึงจะนำพระขุนแผนนั้นนำออกมาให้ญาติโยมได้บูชา
นอกจากนั้นแล้ว หลวงพ่อแหยม ท่านยังได้มอบพระขุนแผนของท่านบางส่วนไปแจกแก่เหล่าทหารและตำรวจที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ซึ่งก็ทราบว่าได้เกิดประสบการณ์และปาฏิหาริย์แก่ผู้บูชาอยู่ไม่น้อย
มีผู้รู้กล่าวว่า หากหาพระขุนแผน หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม ที่ราคาหลายหมื่นมาบูชาไม่ได้ ก็ให้ใช้พระขุนแผนหลวงพ่อแหยม วัดดอนพุทรา มาบูชาแทนได้อย่างสนิทใจพุทธคุณ เพราะว่าเป็นพระขุนแผนที่มีกรรมวิธีการสร้างที่ไม่แตกต่างกัน และท่านยังได้เรียนวิชามาจากพระอาจารย์รูปเดียวกันอีกด้วย