มีเพื่อนคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า เขาได้เบี้ยแก้มาตัวหนึ่งซึ่งก็ดูเก่ามาก ๆ แต่เขาก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นของแท้หรือเปล่า ในที่สุดเขาคิดว่า เชือกถักลงรักปิดทองอะไรก็แล้ว เป็นแค่การทำเพื่อรักษาตัวเบี้ยแก้ไว้เท่านััน หรือทำเพื่อความสวยงาม เพื่อง่ายต่อการพกพานำติดตัว และบางครั้งศิษย์ก็ทำขึ้นทีหลัง ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เขามีความเชื่อว่า ความสำคัญอยู่ที่ตัวเบี้ยแก้ต่างหาก ถ้าหากเป็นของแท้แล้ว แม้จะแกะเชือกถักออกก็ยังเป็นของแท้เหมือนเดิม แต่หากเป็นของเก๊แม้จะถักหรือเลี่ยมทองก็เป็นของเก๊เหมือนเดิม ในที่สุดเขาก็ทำการผ่าออกดู ปรากฏว่าเก๊ 100 % ไม่มีปรอท ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นเครื่องรางที่นำออกมาจากวัดหรือสร้างโดยพระเกจิอาจารย์ จากนั้นเขาจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า ต่อไปอะไรก็ตามที่มีเชือก มีผ้าห่อหุ้ม แม้จะเก่าแค่ไหน ก็ไม่เล่นแล้วครับ และเขายังได้เตือนผมอีกว่า เครื่องรางของขลังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ที่มีอะไรห่อหุ้ม เป็นต้นว่า ตะกรุด เบี้ยแก้ ต้องระวัง เพราะทุกวันนี้ เขาทำให้เหมือนเก่ามาก หรืออาจจะเก๊เก่าร่วมยุคกันมากับของแท้ก็ได้ ซึ่งถ้าหากว่ามีอะไรห่อหุ้มแล้วมันพิสูจน์ยาก นอกจากแกะออกมาพิสูจน์
ส่วนภาพประกอบบทความนี้ ไม่เกี่ยวกับเบี้ยแก้ของเพื่อนที่ผมกล่าวถึงนะครับ แต่เป็นภาพเบี้ยแก้ ที่โพสต์เป็นวิทยาทาน ให้ความรู้โดยคุณ Kittisak Kaisawat ซึ่งเขาได้โพสต์ไว้ที่กลุ่ม เครื่องราง พระเครื่อง เมืองไทย ตามภาพเขาสรุปว่าเป็นเบี้ยแก้แท้นะครับ แต่ปรอทรั่ว ทำให้ปรอทกินตะกั่วจนป่น อย่างไรเสียเข้าไปอ่านความคิดเห็นเพิ่มเติมในกลุ่มได้ครับ ผมขออนุญาตนำมาประกอบบทความ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านอื่น ๆ ต่อไปครับ