พระเจดีย์ทรายคืออะไร
หมายถึงการนำทรายหรือขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเป็นพระเจดีย์เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสสติ
เราควรถวายพระเจดีย์ทรายในโอกาสใด
โดยมากการขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเป็นพระเจดีย์เป็นพุทธบูชานั้น นิยมทำในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับวัดหรือชุมชนนั้น ๆ จะนัดหมายกันขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทรายเป็นพุทธบูชา
คำถวายพระเจดีย์ทราย
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ, มะยัง, เอตัง วารุการาลิง, สะปะริวารัง, เจติยัง, กัตตะวา, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, สังฆัสสะ, นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, อะยัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, วาลุกาเจติยัสสะ, ทานัสสะ, อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, สังวัตตะตุ.
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ขอพระสงฆ์จงรับทราบ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ก่อกองทรายนี้, พร้อมกับของบริวารเป็นเจดีย์แล้ว, ขอมอบถวายแก่พระสงฆ์, เพื่อเป็นพุทธบูชา, ขออานิสงส์แห่งการถวายพระเจดีย์ทราย, เพื่อเป็นพุทธบูชานี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, จงเป็นไปเพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย, แก่ปิยชนทั้งหลาย, มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย, ตลอดกาลนาน เทอญ.
อานิสงส์ของการถวายพระเจดีย์ทราย
การที่โบราณให้จัดกิจกรรมขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเป็นพระเจดีย์นั้น คนโบราณต้องการให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เราเข้ามาในวัดอาจจะพลาดพลั้งนำของสงฆ์ติดไปด้วย แม้เศษดินที่ติดเท้าออกไป แม้ไม่ได้เจตนา แต่ก็เป็นธรณีสงฆ์ เพื่อความไม่ประมาทจึงให้มีการขนทรายเข้ามาวัด จัดก่อเป็นพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ได้อานิสงส์ทั้งการถวายดินให้วัด และพุทธานุสสติอีกด้วย สำหรับอานิสงส์ของการขนทรายเข้าวัดก่อเป็นพระเจดีย์นั้นมีมากเป็นต้นว่า
- ได้ความสามัคคีในหมู่คณะ ครอบครัว และชุมชน
- เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร
- เป็นกา่รทำบุญถวายทานด้วยดินที่เราชนเข้ามา
- เป็นการถวายพระเจดีย์เป็นพุทธบูชา อานิสงส์แห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
- ผิวพรรณย่อมผ่องใส ได้รับการยกย่อง
- ได้เลื่อนยศตำแหน่ง หน้าที่การงานที่ดีขึ้น
- มีฐานะมั่นคง ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
- ได้อารมณ์พุทธานุสสติ มีสุคติเป็นที่ตั้ง