ตำนาน ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์
ตำนานไอ้ไข่ วัดเจดีย์นั้น มีหลายกระแสด้วยกัน จึงทำให้คิดว่าเป็นเรื่องที่เล่าที่แต่งกันมาทีหลัง หลังจากที่มีคนไปขอพรมาก บางตำนานก็ว่าไอ้ไข่คือดวงวิญญาณเด็กที่ติดตามหลวงปู่ทวดมา (วิญญาณเป็นเด็กเล็ก เด็กโต คนแก่ด้วยหรือ) เมื่อหลวงปู่ทวดธุดงค์มาถึงวัดร้างแห่งนี้ และรู้ว่าที่แห่งนี้มีทรัพย์สินโบราณอันทรัพย์สินของแผ่นดินฝังอยู่ จึงมอบหมายให้ดวงวิญญาณเด็กนั้นเฝ้าดูแลปกปักษ์รักษา และอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา (ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ครับ ว่าหลวงปู่ทวดจะทำอย่างนั้น สมบัตินั้นคืออะไร จำเป็นต้องรักษาเพื่ออะไร รักษาจากอะไร ทำไมต้องให้ดวงวิญญาณอยู่ตรงนั้น แทนที่จะไปเกิดตามที่ควรจะไป) อีกตำนานก็ว่า ไอ้ไข่ คือเด็กลูกชาวบ้านแถวนั้นแหล่ะ ซึ่งเคยวิ่งเล่นอยู่ในวัดเจดีย์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดในสมัยแรก เด็กนั้นได้ประสบอุบัติเหตุตกน้ำตาย วิญญาณของเด็กนั้นซึ่งผูกพันอยู่กับวัดที่ตนเคยวิ่งเล่นมา จึงไม่ไปไหน (ความคิดเห็นผมเป็นไปได้ อาจจะเกิดเป็นอะไรสักอย่างที่อยู่ในบริเวณนั้น เป็นภูมิ เป็นรุกขเทวดา หรืออะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่เป็นเด็กแล้ว ไม่ได้แก้ผ้าแล้ว)
ทำไม ไอ้ไข่มาแรง
ที่ไอ้ไข่ หรือเด็กไข่ วัดเจดีย์มาแรงในปีนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ายุคนี้เศรษฐกิจย่ำแย่ คนตกงานเยอะ คนเดือดร้อนมาก ทำมาหากินลำบาก ขาดที่พึ่ง จึงหันเข้ามาบูชาขอพร เจออะไรที่อยู่ใกล้ตัวไหว้บนบานขอพรไปหมด หรือได้ยินที่ไหนว่าดี ก็แห่กันไปขอพรหรือหานำมาบูชา ไปขอพรสัก 10,000 คน แล้วประสบความสำเร็จสัก 100 – 1000 คน ก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาแล้วครับ โอกาสที่คนขอพรแล้วประสบความสำเร็จนั้นมีมาก หากสิ่งที่ตนเองขอนั้นเป็นสิ่งที่ตนเองทำอยู่แล้ว เช่น ขอให้ค้าขายดี ก็ตนเองก็ค้าขายอยู่แล้วและก็พยายามอย่างเต็มที่ หรือในจำนวน 10,000 คนนี้ ขอให้ถูกหวย เชื่อเถอะในบรรดา 10,000 คนนี้ ซื้อหวยไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้น ก็ย่อมมีคนถูกคนผิดบ้างเป็นธรรมดา ใครถูกก็ต้องฮือฮาว่าไอ้ไข่ให้โชคให้ลาภ และต้องมาแก้บนตามที่ตนเองได้บนไว้
คำบูชา ไอ้ไข่
อิติ อิติ กุมารไข่เจดีย์ จะมะหาเถโร ลาภะ ลาภา ภะวันตุเม
คาถาต้นฉบับจากในวัดจะมีคำว่า จะมะหาเถโร ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีคำว่า มะหาเถโร ในเมื่อไอ้ไข่เป็นเด็กแก้ผ้าไม่ใช่พระมหาเถระ หรือคำว่า จะมะหาเถโร อาจจะหมายถึง กุมารไข่วัดเจดีย์และพระมหาเถระ (จะ แปลว่า และ ซึ่งพระมหาเถระหมายถึงหลวงปู่ทวด) ก็ได้นะครับ เป็นอันว่า หากท่านสวดถึงบทว่า จะมะหาเถโร ให้นึกถึงองค์หลวงปู่ทวดหรือพระมหาเถระในวัดนั้นนะครับ
ควรบูชาไอ้ไข่อย่างไรดี
สำหรับผมแล้ว ให้ทำการบูชาแบบพุทธศาสนา ทำอย่างไรล่ะ บูชาไอ้ไข่แบบไหนดี
- บูชาด้วยการทำบุญอุทิศให้ ทำบุญอุทิศให้แบบชาวพุทธนะ เพราะไอ้ไข่ก็เป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ทำบุญอุทิศให้แบบชาวพุทธง่าย ๆ ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ทำความสะอาดวัด ล้างห้องน้ำ สถานที่ในวัด ทำความสะอาดถนน เก็บขยะในวัด หรือทำความสะอาดศาลาไอ้ไข่ที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทำการอุทิศบุญให้ กรวดน้ำอุทิศบุญไปให้ ส่วนการนำไก่นำ นำตุ๊กตา นำเสื้อผ้า นำอาหารไปวางไว้หน้ารูปปั้นไอ้ไข่นั่นเป็นวิธีนอกพระพุทธศาสนา
- ตามตำนานที่ว่าไอ้ไข่เป็นเด็กที่หลวงปู่ทวดให้เฝ้าสมบัติของแผ่นดินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็แสดงว่า ไอ้ไข่มีความเคารพนับถือในพระในหลวงปู่ทวดมาก มีความรักแผ่นดินเป็นอย่างมาก ฉะนั้น การบูชาไอ้ไข่อีกวิธีที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ต้องเดินทางไปวัดเลย นั่นก็คือการปฏิบัติตามปฏิปทาของไอ้ไข่ นั่นก็คือคุณต้องมีความเคารพนอบน้อมนับถือในองค์หลวงปู่ทวดและพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชนในชาติ ไม่คดโกง ไม่ทำลายชาติ พระพุทธศาสนา วัดวาอาราม พุทธสถาน ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ซึ่งทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาถือว่าเป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของแผ่นดินทั้งนั้น ที่ต้องรักษาไว้ การทำแบบนี้ก็เป็นการบูชาไอ้ไข่สุดยอดแห่งการบูชา ที่ท่านเรียกว่าปฏิบัติบูชา
- อีกตำนานว่า ไอ้ไข่เป็นคนในพื้นที่ที่รักวัดที่ตนเองได้อยู่อาศัย ได้กินข้าวปลาอาหาร ได้กินข้าวก้นบาตรจากพระทุกวัน วิ่งเล่นไปมาในบริเวณวัด ช่วยเหลือพระสงฆ์ปัดกวาดเช็ดถู รับส่งอาหารบิณฑบาตรพระ เมื่อตายลงจิตผูกพันกับวัด กับพระจึงได้เกิดอยู่ในบริเวณนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไอ้ไข่เกี่ยวข้องกับวัด เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคลและสถานที่ที่ตนได้อยู่อาศัย ฉะนั้น การบูชาไอ้ไข่ นอกจากทำบุญอุทิศให้แล้ว ก็ควรนำคุณธรรมของไอ้ไข่มาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติด้วย ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รักบ้านเกิดของตนเอง รักพระพุทธศาสนา รักวัดประจำหมู่บ้านของตน อยากบูชาไอ้ไข่ ไม่จำเป็นต้องไปหาไอ้ไข่ถึงวัดเจดีย์ แค่ไปวัดใกล้บ้าน วัดประจำหมู่บ้าน แล้วทำบุญอุทิศให้ ทำความสะอาดวัด ก็เป็นการบูชาไอ้ไข่แล้วครับ
คุณธรรม ความดี ไอ้ไข่
คุณธรรมของไอ้ไข่นี้ ผมสรุปจากประวัติหรือตำนานย่อ ๆ ที่กล่าวมา
- มีความเคารพในพระสงฆ์ในวัด โดยเฉพาะหลวงปู่ทวด
- มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ประเทศชาติ (ก็ที่บอกว่ารักษาสมบัติของแผ่นดิน)
- มีความรักต่อชุมชนสถานที่ โดยเฉพาะวัดในชุมชน
- มีความเคารพรักในพระพุทธศาสนา ผูกพันต่อพระพุทธศาสนา
- มีความกตัญญูต่อวัดที่ให้เป็นสถานที่วิ่งเล่นหลับนอน ต่อพระสงฆ์ที่เคยได้กินข้าวก้นบาตร
เหรียญไอ้ไข่ หรือตาไข่
สำหรับเหรียญไอ้ไข่รุ่นแรกนั้น ทางวัดได้ขึ้นสร้างในปี 2526 จากนั้นอาจจะทิ้งช่วงในระยะหนึ่ง แต่ในปีสองปีมานี้ เห็นเหรียญไอ้ไข่ออกมาหลายรุ่น หลายวาระ หลายที่ด้วยครับ ผมเองก็ไม่ค่อยได้ติดตาม
สำหรับเหรียญไอ้ไข่ประกอบบทความนี้ เป็นเหรียญเม็ดแตง รุ่นแรก (หมายถึงรุ่นแรกที่ได้สร้างเป็นเหรียญเม็ดแตง) เนื้อทองแดง สร้างเมื่อปี 2546 ครับ