ถ้าเราไปงานกฐินโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราจะพบเห็นธงซึ่งมีรูปสัตว์อยู่ 4 ชนิด ส่วนความเป็นมาหรือตำนานนั้น ผมจะยังไม่กล่าวถึง แต่ผมจะพูดถึงความหมาย หรือปริศนาธรรมที่ซ่อนเร้นอยู่
ความหมายของธงกฐิน แต่โบราณมา
เรื่องของธงกฐินนี้เป็นเรื่องของประเพณีในแต่ละท้องถิ่น หมายความว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ ไม่มีธงก็เป็นกฐินได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีธงแล้วไม่เป็นกฐิน และก็ไม่มีบังคับไว้ในพระวินัยแต่อย่างไร ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของประเพณีของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชานิยมให้มีธงรูปสัตว์ 4 ประเภท ซึ่งนักปราชญ์แต่โบราณให้ความหมายไว้ดังนี้
- ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ สื่อให้เห็นภาพด้วยสัตว์ปากใหญ่กินไม่รู้จักอิ่ม บางตัวกินแบบไม่ต้องเคี้ยว ไม่รู้จักประมาณ
- ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ สื่อให้เห็นจากสัตว์มีพิษดังเช่นตะขาบซึ่งพิษที่เผ็ดร้อน ก็เหมือนความโกรธ ที่แผดเผาจิตใจคนให้เร่าร้อน
- ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง ซึ่งสะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงามที่หอมหวาน อันน่าปรารถนาชวนให้ลุ่มหลง ให้เคลิบเคลิ้มตาม
- ธงเต่า หมายถึง สติ ที่คอยระวังรักษาอายตนะทั้งหก เปรียบเหมือนเต่าที่รู้จักหลบภัยด้วยการหด ขาทั้งสี่ หัวและหางเข้ากระดอง
นอกจากนั้น ธงทั้ง 4 ยังให้ความหมายให้เป็นที่รับรู้กันดังนี้
- ธงจระเข้ ใช้ประดับในขบวนแห่กฐิน ซึ่งมีตำนานว่าเศรษฐีได้เกิดเป็นจระเข้แล้วว่ายน้ำตามขบวนแห่กฐินจนสิ้นใจตาย แต่หากวัดใดปักธงจรเข้เพื่อใช้เป็นที่รับรู้ว่าวัดนั้นได้รับกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้เห็นเข้าก็จะยกพากันอนุโมทนาบุญด้วยการยกมือขึ้นกล่าวสาธุ
- ธงตะขาบ ใช้ประดับเพื่อแจ้งให้ทราบว่า วัดนี้ได้มีคนมาจองเป็นเจ้าภาพกฐินแล้ว ให้ผู้ที่ผ่านไปมาเพื่อต้องการจะถวายกฐินได้ได้รับทราบและผ่านไปวัดต่อไป
- ธงนางมัจฉา ใช้ประดับงานถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนของหญิงสาวสื่อให้เห็นถึงความงดงามแห่งอานิสงส์การถวายผ้ากฐิน
- ธงเต่า ใช้ประดับปักไว้ที่ลานวัดเพื่อแจ้งให้ทราบว่า วัดแห่งนี้ได้ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมคนผ่านไปมาจะได้อนุโมทนา (เหมือนธงจระเข้)
ความหมายใหม่ ธงกฐิน
เนื่องจากว่าทุกวันนี้ นอกจากทำธงกฐินเป็นรูปสัตว์แล้ว ยังได้มีการลงอักขระยันต์ต่าง ๆ สื่อถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ และบางงานทางเจ้าภาพได้มีการนำธงกฐินเหล่านี้ออกมาประมูลในงานเพื่อนำรายได้สมทบกฐินอีกทางหนึ่งด้วย ฉะนั้น ผมจึงคิดความหมายใหม่เกี่ยวกับธงกฐินนี้ เพื่อให้ออกมาดูดี แต่ถ้าพิจารณาดูดี ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งความหมายเดิมมากนัก เพียงแต่ใช้คำให้ดูดีเท่านั้นครับ
- ธงจระเข้ หมายถึงความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่ง นั่งกินนอนกินแบบร่างกายปรกติ หากินง่าย เหมือนดังจระเข้หากินง่าย มีอาหารให้กินตลอด นอนแช่อยู่กับอาหารการกิน ฉะนั้น ใครที่ได้ถือธงจระเข้แห่กฐินหรือได้ธงจระเข้ไปบูชาไว้ที่บ้าน จึงมีความอยู่ดีกินดี มีอันจะกิน ไม่อดอยาก
- ธงตะขาบ ตะขาบมีพิษร้ายไว้ป้องกันตัว ฉะนั้น ใครที่ถือธงนี้แห่ในขบวนกฐินหรือได้ธงตะขาบไปไว้ที่บ้าน จึงได้รับการคุ้มครองป้องกันตัว ป้องกันบ้าน ป้องกันทรัพย์สิน และคนอันเป็นที่รัก
- ธงนางมัจฉา สื่อถึงความงาม ความงามแห่งการทำบุญให้ทาน ความงามแห่งศีล หากใครได้ถือธงนี้หรือนำธงนางมัจฉานี้ไปไว้ที่บ้าน อานิสงส์แห่งบุญแห่งศีลย่อมสวยงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป คนรักคนหลง แม้เกิดชาติหน้าก็ย่อมสวยงามตามอานิสงส์แห่งทานและศีลที่ได้บำเพ็ญมา
- ธงเต่า สื่อความหมายถึงสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน ผู้มีปัญญา มีสติรักษาตนได้ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักหลบภัย ย่อมมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน หากใครได้ถือธงเต่าหรือมีธงเต่าไปบูชาไว้ที่บ้าน ย่อมมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว รู้จักหลบหลีกปัญหาต่าง ๆ ได้
เป็นอย่างไรบ้างครับ ความหมายใหม่ของธงกฐิน อันที่จริงก็ไม่ทิ้งของเก่าไปเสียทีเดียวนะครับ แต่เราใช้ถ้อยคำให้ดูดีขึ้น เหมาะสมแก่งานบุญงานกุศล บางคนบอกว่าทำบุญหวังบุญไม่ได้บุญ เมื่อก่อนผมก็คล้อยตามคำพูดนี้ ทุกวันนี้ผมไม่เชื่อ ทำบุญก็ต้องหวังบุญสิ ยิ่งตั้งใจยิ่งได้บุญ พระเวสสันดรให้ทานลูกเมีย ไม่ใช่ให้ทานเล่น ๆ ไม่ใช่คิดอยากใจะให้ก็ให้ แต่พระองค์หวังบุญหนุนโพธิญาณให้เต็มเปี่ยม จึงได้ทำการให้ทาน เป็นทานบารมี