หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พระวิปัสสนาจารย์รูปสำคัญรูปหนึ่งของประเทศไทย
พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3 เป็นพระเถระผู้ทรงภูมิความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม ครบถ้วนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ครองใจชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
เกียรติคุณหลวงพ่อจรัญ
หน่วยงานต่าง ๆ ที่ถวายเกียรติคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน สิงห์บุรี
พ.ศ. 2536 ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2536 ปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สภาฝึกหัดครู
พ.ศ. 2537 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. 2539 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2544 ปริญญาคุรุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา สถาบันราชภัฏเทพสตรี
พ.ศ. 2546 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสนศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2557 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
รางวัลที่หลวงพ่อจรัญได้รับ
แม้การบวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นไปเพื่อเกียรติคุณหรือรางวัลต่าง ๆ ก็ตาม แต่นั่นเป็นวิธีหนึ่งที่สังคมแสดงออกเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและคุณงามความดีของท่าน
พ.ศ. 2526 ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นในสาขาสังคมสงเคราะห์อาสาสมัครฝ่ายกิจการพระศาสนา
พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ในฐานะผู้ได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริมชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
พ.ศ. 2529 ได้รับมอบเข็มเกียรติคุณนักพัฒนาดีเด่นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในสังฆราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558
พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัลเป็นบุคลที่ทำคุณประโยชน์ ด้านการพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต จากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ในงานประกาศ “รางวัล ๑๐๐ ปี ชาติกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก”
ที่มา : wikipedia.org
พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อจรัญ “ทำความดีให้เสมอต้นเสมอปลาย”
พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อจรัญรุ่นนี้มีลักษณะรูปทรงเป็นพระผงรูปไข่กึ่งกลม ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจรัญ ห่มจีวรคลุมไหล่ ครึ่งองค์ หน้าตรง ด้านหน้าไม่มีข้อความใด ๆ ปรากฏอยู่ ด้านหลังมีข้อความภาษาไทยอ่านว่า “ทำความดี ต้องให้เสมอต้นเสมอปลาย พระธรรมสิงหบุราจารย์ จรัญ ฐิตธมฺโม ๒๕๕๔”
ด้านหน้าพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อจรัญ “ทำความดีให้เสมอต้นเสมอปลาย” ไม่มีข้อความใด ๆ เป็นการสื่อความหมายว่า ทำความบุญ ทำความดีใด ๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มุ่งหวังชื่อเสียงเป็นที่ปรากฎ ไม่ได้หวังให้ใครรู้จักตนเอง (แม้หวังชื่อเสียง แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นความดี ก็ยังเป็นความดีอยู่ เช่น บริจาคเงินช่วยเหลือคน แม้ท่านจะประกาศลงหนังสือพิมพ์ หรือถ่ายรูป การช่วยนั้นก็ยังเป็นประโยชน์หรือความดีอยู่ ตรงกันข้าม ทำความชั่ว คนจะรู้หรือไม่รู้ ก็ยังเป็นความชั่วเหมือนกัน : ความคิดเห็นส่วนตัว) ด้านหลังมีข้อความสั้น ๆ ว่า “ทำความดีให้เสมอต้นเสมอปลาย” เป็นข้อความสั้น ๆ แต่ทรงพลัง คุณค่า ถ้าปฏิบัติตาม ความดีนั้นย่อมคุ้มครองผู้ทำให้อยู่ในความดีงามตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า แม้จากโลกนี้ไปความดีนั้นก็ยังปรากฎอยู่ เป็นที่กล่าวถึงไม่เสื่อมคลาย