จิ เจ รุ นิ เป็นคำที่ทรงพลัง บ้างก็บอกว่า เป็นหัวใจกุสะลา บ้างก็ว่า เป็นหัวใจปรมัตถธรรม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หัวใจปรมัตถ์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถูกต้องหมด
จิ เจ รุ นิ คือคาถาอะไร ?
จิ เจ รุ นิ คือคาถาอะไร ? นับว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งคำถามนี้ ผมขออนุญาตนำคำตอบจากงานวิจัยของอาจารย์ของธีรโชติ เกิดแก้ว มีชื่อว่า การศึกษาอักษรย่อในคัมภีร์หัวใจ108 ในฐานะสื่อการสอนพระพุทธศาสนามาให้ท่านอ่าน ซึ่งผมขอเปลี่ยนอักษรข้อความนิดหน่อย แต่คงไว้ซึ่งความหมายเดิม เพราะท่านรวบรวมไว้ดีมาก ๆ
จิ เจ รุ นิ เป็นชื่อหัวใจกุสลา (ปรมัตถ์) สื่อถึงคําศัพท์ในคัมภีร์ธัมมสังคณีอันเป็นคัมภีร์แรกในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ แต่ในตำราหัวใจ
108 เรียกชื่อหัวใจนี้ว่า หัวใจปรมัตถ์บ้าง หัวใจสังคหะบ้าง ชื่อหัวใจทั้ง 2 ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อกล่าวโดยสาระสําคัญแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือสื่อถึงธรรมชั้นสูงที่องค์สมเด็ยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ส่วนอักษรย่อในหัวใจนี้สื่อถึงปรมัตถธรรมทั้ง 4 ประการ ซึ่งจะอธิบายต่อไป
กุสลา (อ่านว่า กุสะลา) เป็นคําขยายของคําว่า ธมฺมา ดังนั้น กุสลา ธมฺมา จึงแปลตามตัวอักษรว่า ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลายหรือกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งหมายถึง จิตและเจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศล
ปรมัตถะ แปลตามตัวอักษรว่า ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ที่เป็นปรมัตถธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นเป้าหมายสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก 4 ประการ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
สังคหะ แปลว่า การย่อหรือการรวบรวม ชื่อนี้มาจากคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ หมายถึง คัมภีร์ที่รวบรวมหรืออธิบายปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
จิ เจ รุ นิ ย่อมาจากอะไร ?
โบราณาจารย์ท่านนํามาจากธรรมที่เป็นองค์ประกอบของปรมัตถธรรม 4 ประการ ดังนี้
จิ ย่อมาจาก จิตฺตํ (อ่านว่า จิด-ตัง) หมายถึง จิต หรือธรรมชาติที่คิด
เจ ย่อมาจาก เจตสิกํ (อ่านว่า เจ-ตะ-สิ-กัง)หมายถึง เจตสิก หรืออารมณ์ที่เกิดร่วมกับจิต
รุ ย่อมาจาก รูปํ (อ่านว่า รู-ปัง)หมายถึง รูปหรือร่างกาย
นิ ย่อมาจาก นิพพานํ (อ่านว่า นิบ-พา-นัง) หมายถึง นิพพาน หรือสภาวะที่ออกไปจากตัณหา
ที่มาของอักษรย่อ จิ เจ รุ นิ
โบราณาจารย์ท่านนำมาจากคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ โดยสรุปปรมัตถธรรม 4 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
จิ ย่อมาจาก จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ภายนอกที่ผ่านมาทางตา หูจมูก ลิ้นกาย และใจ โดยย่อมี 89 ดวง โดยพิสดารมี 121 ดวง จําแนกตามสภาวะของจิต คือ อกุศลจิตมี 12 ดวง กุศลจิตมี 21 ดวง โดยพิสดารมี 37 ดวง วิปากจิตมี 36 ดวง โดยพิสดารมี 52 ดวง และกิริยาจิตมี 20 ดวง (พระอนุรุทธาจารย์, 2530, น. 1-6)
เจ ย่อมาจาก เจตสิก หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตมี 52 ประการ จําแนกตามลักษณะของเจตสิก คือ อัญญสมานาเจตสิกมี 13 ดวง อกุศลเจตสิกมี 14 ดวง และโสภณเจตสิกมี 25 ดวง (พระอนุรุทธาจารย์, 2530, น. 7-13)
รุ ย่อมาจาก รูป หมายถึง ร่างกายและคุณสมบัติของร่างกาย แยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ มหาภูตรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากธาตุหลักที่ประกอบกันขึ้น ได้แก่ ธาตุ 4 คือ ดิน นํ้า ลม ไฟ และอุปาทายรูป หมายถึง รูปที่อาศัยธาตุทั้งสี่ที่ประชุมกันเป็นร่างกาย เช่น ความเป็นหญิง ความเป็นชาย เป็นต้น (พระอนุรุทธาจารย์, 2530, น. 33-39)
นิ ย่อมาจาก นิพพาน หมายถึง สภาวะที่ออกไปจากตัณหาที่ผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในภพจัดเป็นโลกุตตรธรรม กล่าวโดยสรุปมี 2 ประเภท คือ สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง นิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ และอนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง นิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีพแล้ว (พระอนุรุทธาจารย์, 2530, น. 13)
พุทธคุณ จิ เจ รุ นิ (ความเชื่อ)
โบราณาจารย์ได้นําอักษรย่อในหัวใจกุสลาไปใช้ในมิติทางความเชื่อหลายประการ เช่น ภาวนาเรียกจิตคนทั้งหลายให้มาหลงรัก เสกหมากกินทําให้อยู่ยงคงกระพัน เสกขี้ผึ้งสีปากเป็นมหานิยม เสกปูนทาเท้ากันขวากหนาม และใช้ปลุกผีเป็นต้น และนําไปใช้ลงยันต์ต่าง ๆ เช่น ยันต์หัวใจพระปรมัตถ์และยันต์หัวใจพระเจ้า 5 พระองค์เป็นต้น ซึ่งเชื่อกันว่า มีอานุภาพด้านคงกระพันชาตรี
และเสน่ห์ (เทพย์สาริกบุตร, 2538, น. 191-193)
แต่ถ้าพิจารณาจากความหมาย แหล่งที่มา และสาระสําคัญของหัวใจนี้จะได้ข้อสรุปว่า หัวใจนี้สื่อถึงหลักธรรมชั้นสูงที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ที่กล่าวถึงจิตทั้งที่เป็นกุศล อกุศล และเป็นกลาง ๆ เจตสิก อารมณ์ที่เกิดกับร่วมกับจิตที่มีลักษณ์เช่นเดียวกันกับจิต คือ เจตสิกฝ่ายกุศล อกุศล และที่เป็นกลาง ๆ (อัพยากตเจตสิก) รูปที่เป็นประกอบด้วยมหาภูตรูปและอุปาทายรูป และนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาชีวิตตามหลักคําสอนในพระพุทธศาสนา ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่เป็นเรื่องของอํานาจศักดิ์สิทธิ์หรือมีเนื้อหาที่ไม่ดีดังที่คนบางส่วนเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสูญเสีย ความตาย เพราะตีความว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะใช้สวดในงานศพ ดังนั้น การนําหัวใจและอักษรย่อในหัวใจนี้ไปสื่อความหมายในมิติทางความเชื่อว่าเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์มีอํานาจทําให้อยู่ยงคงกระพัน เป็นมหาเสน่ห์รวมถึงรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกับสาระสําคัญของหัวใจนี้
ผมเห็นว่า คำว่า จิ เจ รุ นิ คือ คาถา อะไร เป็นคำที่ถูกค้นหามากใน Google และท่านอาจารย์ของธีรโชติ เกิดแก้ว ท่านรวบรวมไว้ได้ดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ ทำให้ศึกษาเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า จิ เจ รุ นิ ผมเองมีความประสงค์ให้ท่านผู้อ่านได้รู้ที่มา ความหมายที่แท้จริงของคำว่า จิ เจ รุ นิ ที่แท้จริง จึงได้นำเนื้อหาทั้งหมดให้ท่านได้อ่าน หวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับท่านที่ต้องการศึกษา ที่มา ความหมาย พุทธคุณ หรือความเชื่อเกี่ยวกับคาถา จิ เจ รุ นิ