การทำบุญในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านวางหลักไว้ 3 ประการหลัก ๆ ได้แก่ การบำเพ็ญทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา (การบริหารสติและปัญญาของตน) ในการทำบุญที่เข้าหลัก 3 ประการนี้ แม้จะทำที่ไหน เมื่อไหร่ ยุคสมัยใด ก็ถือว่าเป็นบุญทั้งนั้น แต่จะมีอานิสงส์มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
การบำเพ็ญทานถือว่าเป็นหนึ่งในการทำบุญยอดนิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยเฉพาะการทำบุญตักบาตรซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่คนไทยพุทธนิยมทำกันทุกวันและทำกันมาเป็นประจำตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย บางคนทำบุญตักบาตรทุกเช้า บางคนตักบาตรเฉพาะในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บางคนตักบาตรเฉพาะในวันพระ บางคนตักบาตรในวันคล้ายวันเกิดของตน การทำบุญตักบาตรในแต่ละวันนั้นย่อมเป็นบุญทั้งนั้น ส่วนอานิสงส์แห่งการทำบุญนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น เจตนา วัตถุทาน และผู้รับทาน เป็นต้น ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงความเชื่อที่ว่าทำบุญตักบาตรวันไหน ได้อานิสงส์อย่างไร
ทำบุญตักบาตรวันไหน มีอานิสงส์อย่างไร
ทำบุญตักบาตรวันเกิด มีอานิสงส์อย่างไร
การทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน เนื่องในวันคล้ายวันเกิดเป็นอีกวิธีการทำบุญอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยนิยมทำกันมา โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในเมืองซึ่งนาน ๆ ที่จะมีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรหรือถวายสังฆทานจึงได้เลือกเอาวันคล้ายวันเกิดของตนในการทำบุญ สำหรับการทำบุญตักบาตรในวันคล้ายวันเกิดนั้นเชื่อว่านอกจากส่งผลดีเป็นสิริมงคลแก่ตนเองแล้ว หมายความว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ตนเองตามมงคล 38 ประการที่ท่านตรัสไว้แล้ว ยังเชื่อว่าการทำบุญวันเกิดนั้นย่อมส่งผลต่อผู้ให้กำเนิดคือบิดามารดาของตนเอง และมิใช่แต่บิดามารดาในชาตินี้เท่านั้น แม้บิดามารดาในชาติที่ผ่าน ๆ มาก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนบุญนั้นเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทานเนื่องในวันคล้ายวันเกิดแล้ว อย่าลืมบอกบิดามารดาอนุโมทนาบุญด้วย ถ้าจะให้ดีควรพาท่านทั้งสองไปทำบุญตักบาตรถวายสังฆทานด้วยกัน อีกทั้งอย่าลืมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่มารดาบิดาปู่ย่าตายายในอดีตชาติที่ผ่านมาด้วย
ทำบุญตักบาตรในวันพระ มีอานิสงส์อย่างไร
การทำบุญตักบาตรวันพระนั้น เชื่อว่าอานิสงส์ส่งให้เป็นคนเคร่งครัดต่อวินัย ทำให้ชีวิตมีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน เป็นคนมีความละเอียดอ่อน เป็นคนมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก ทำอะไรมักจะสำเร็จราบรื่นด้วยดี แม้จะต้องใช้เวลาก็ตาม (ตกลงว่าอานิสงส์หรือการทายนิสัยกันแน่)
ทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีอานิสงส์อย่างไร
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นอีกวันหนึ่งซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหลัก ๆ ที่เป็นวันหยุดราชการด้วย ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา นอกจากนั้นก็ยังมีวันอัฏฐมีบูชา วันออกพรรษา ซึ่งบทความนี้รวมวันที่ทางวัดจัดกรรมทำบุญตามประเพณีด้วย เช่น วันทำบุญกฐิน วันทำบุญวันสารท วันทำบุญผ้าป่า วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น แม้วันดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ แต่เป็นวันที่ชาวบ้านในชุมชนนั้น ๆ กำหนดให้เป็นวันสำคัญในการรวมตัวกันเพื่อมาทำบุญตักบาตรที่วัด การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีอานิสงส์อย่างไร ?
- ส่งผลให้ได้พบเจอกัลยาณมิตรที่ดี ซึ่งกัลยาณมิตรย่อมส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัว
- ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านและครอบครัว
- ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงดีงาม เป็นที่รู้จักของคนทั้งหลาย
- เป็นผู้มีบริวารมาก มีเพื่อนมาก
- เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
- ประสบความสำเร็จง่าย
- เมื่อมีปัญหาติดขัดย่อมได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน
- เป็นคนหูตากว้าง ทันคนทันเหตุการณ์บ้านเมือง
ทำบุญตักบาตรในครบรอบแต่งงาน มีอานิสงส์อย่างไร
การชวนคู่รักหรือคู่ชีวิตมาทำบุญตักบาตรถวายสังฆทานด้วยกันในโอกาสที่ได้พบเจอกัน ในโอกาสครบรอบวันเจอกันหรือครบรอบวันแต่งงาน เชื่อว่าเป็นสิริมงคล ส่งเสริมความรักให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่งเสริมความสามัคคีให้ดียิ่งขึ้น อีกอย่างเป็นการทำบุญเพื่อสะล้างสิ่งเก่า ๆ เรื่องราวเก่า ๆ บุคคลเก่า ๆ อารมณ์เก่า ๆ ให้ออกไปจากชีวิต แล้วรับเอาสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่ เป็นการประกาศความสำเร็จแห่งความรักของคู่ที่มาทำบุญอีกด้วย
ทำบุญตักบาตรวันไหน ได้อานิสงส์อย่างไร ? แม้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ และผมเองก็ไม่ได้บอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอานิสงส์ของการทำบุญตามที่กล่าวมาจะไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ขอให้ผู้ทำบุญทุกท่านตั้งเจตนาแห่งการทำบุญให้ดี เมื่อเจตนาดีความดีย่อมเกิดขึ้น เมื่อความดีเกิดขึ้นก็ย่อมส่งผลในทางที่ดีได้ ไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัยแต่อย่างไร
ในทางพระพุทธศาสนานั้น ทำดีวันไหน เวลาใด ก็เป็นความดี มงคลดี ฤกษ์ดีในเวลาที่ทำนั้น ขอให้เป็นการกระทำดีที่ถูกดีถูกที่ถูกเวลา (ถูกเวลาเช่น เวลาเช้าควรตักบาตร แต่ไปตักบาตรหรือถวายสังฆทานตอนเที่ยงคืน ก็ไม่ค่อยดีนัก หรือเวลานี้ควรเอาใจใส่ดูแลคนในครอบครัว แต่นำเวลาไปดูแลคนอื่นเสีย แบบนี้ก็ไม่ดีนัก)