ฤๅษี หรือ ลดคำลงมาเป็น ฤษี เป็นคำที่มักถูกเขียนผิดบ่อยมากที่สุด
ฤษี, ฤๅษี ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
น. ฤษี นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.
น. ฤๅษี นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น ผู้แต่งพระเวท ป. อิสิ).
ฤๅษี มักเขียนผิดเป็น ฤาษี
เครื่องหมาย “ๅ” หลัง “ฤ” ไม่ใช่สระอา สระอาต้องหางสั้น “า” แบบนี้ เครื่องหมาย “ๅ” นี้ เป็นส่วนควบของอักษร ทำนองเดียวกับ ญ หญิง มีเชิง ฐ ฐาน มีเชิง เชิงนั้นคือส่วนควบของอักษร ญ และ ฐ เครื่องหมาย “ๅ” ก็คือส่วนควบของ “ฤ” และ “ฦ”
“ฤ” อ่านว่า รึ
“ฤๅ” (ไม่ใช่ “ฤา”) อ่านว่า รือ
“ฦ” อ่านว่า ลึ
“ฦๅ” (ไม่ใช่ “ฦา”) อ่านว่า ลือ
ดังนั้น “ฤาษี” จึงไม่มี เป็นคำที่เขียนผิด มีแต่ “ฤๅษี”
ฤๅ (รือ) เป็นรูปสระในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นเสียงยาวของ ฤ เมื่อไทยนำมาใช้ออกเสียงเป็น รือ เช่น ฤๅษี