เชื่อว่าหลายท่าน คงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง ผ่านฟีดข่าว facebook “เชิญร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือ” “ไถ่ชีวิตวัว-ควายจากโรงฆ่าสัตว์” “ช่วยชีวิตวัวแม่ลูกอ่อนกำลังถูกเชือด วันนี้” ประมาณนี้ และก็มีคนร่วมบริจาคมากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังทรัพย์
ทำไมต้องไถ่ชีวิตวัวควาย
ชายคนหนึ่งเห็นกลุ่มชาวบ้านจูงวัวผ่านหน้าบ้านของตนเพื่อที่จะทำการเชือด เขาเกิดความสงสารอย่างจับใจจึงได้นำเงินที่มีอยู่ไปขอซื้อวัวตัวนั้นในราคาที่แพงกว่าปกตินิดหนึ่ง เพื่อให้มันรอดพ้นจากความตายที่อยู่เบื้องหน้าไม่กี่นาที เขานำวัวนั้นกลับมาบ้านสำหรับการเลี้ยงชั่วคราวก่อนที่จะส่งมอบให้โครงการธนาคารโค-กระบือต่อไป แต่เมื่อแม่เขาเห็นเข้ากลับพูดว่า “เอ็งจะบ้าหรือไง ทำไมไม่วางเฉยเสียบ้าง ถ้าเขามาตั้งโรงฆ่าสัตว์อยู่ข้างบ้าน แกจะไม่หมดเนื้อหมดตัวเพราะนำเงินไปไถ่ชีวิตมันทุกวันหรือไง ?” “บ้านเราก็ไม่ได้อยู่ใกล้โรงฆ่าสัตว์นี่แม่ จะไม่กังวลใจทำไม อีกอย่างผมก็ไม่ได้ช่วยทุกตัว แต่ช่วยเฉพาะตัวที่เราเห็นความตายที่จะเกิดขึ้นกับมันเฉพาะหน้าเท่านั้น เหมือนแม่ทำบุญตักบาตรพระนั่นแหล่ะ แม่ก็ไม่ได้ตักบาตรทุกวัดหรือทุกรูปในประเทศไทย แต่ตักบาตรเฉพาะรูปที่เดินผ่านหน้าบ้านเรา” นี่คือคำตอบของลูกชาย
กลับมาที่คำถาม “ทำไมเราต้องไถ่ชีวิตโค-กระบือ” หรือเรียกตามภาษาบ้าน ๆ ว่า “ทำไมเราต้องไถ่ชีวิตวัว-ควายด้วย”
- เพราะทุกชีวิตก็รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเกิดมาเพื่ออยากให้อีกฝ่ายหนึ่งฆ่าหรอก
- สิ่งที่พระพุทธศาสนาปลูกฝังคนไทยมา คือความเมตตา ฉะนั้น สิ่งไหนที่จะช่วยก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็วางอุเบกขา
- เชื่อว่าการให้ชีวิตเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ในบรรดาสัตว์เดรัจฉานนั้น เชื่อว่าให้ชีวิตสัตว์ที่มีคุณ หรือสัตว์ใหญ่ได้อานิสงส์มากกว่าสัตว์ที่ไม่มีคุณหรือสัตว์เล็ก (แต่จริง ๆ สัตว์ทุกชีวิตไม่ควรถูกฆ่า)
- เชื่อว่า การไถ่ชีวิตโค-กระบือนั้น ผลบุญมาก มีอานุสงส์มาก เป็นต้นว่า
– ทำให้เป็นผู้มีอายุยืนยาว
– มีสุขภาพแข็งแรง
– เป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือมีโรคน้อย
– แก้เคราะห์กรรมของตนเอง
– เป็นการต่ออายุของตนเอง
คำแนะนำและข้อควรระวังในการไถ่ชีวิตโค-กระบือ
- แม้การไถ่ชีวิตโค-กระบือเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นการแสดงความเมตตาต่อสัตว์ เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ แต่ควรพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่างด้วย ความพร้อมของกำลังทรัพย์ของเรา ถ้ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรา สามี-ภรรยาอยู่ด้วยกันควรได้ปรึกษากันก่อน ถ้านำเงินไปไถ่ชีวิตโค-กระบือซึ่งเราไม่ส่วนในการทำบาปนั้นแต่ต้นแล้วกลับทำให้ครอบครัวแตกแยกเกิดการทะเลาะกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
- ควรศึกษาสถานที่ที่เราจะทำบุญไถ่ชีวิตโค-กระบือนั้นด้วย เป็นสัตว์ที่กำลังถูกฆ่าจริงไหม หลังจากไถ่ไปแล้วเขานำโค-กระบือนั้นไปไว้ที่ไหนต่อ
- จะเข้าร่วมกิจกรรมไถ่ชีวิตโค-กระบือผ่านอินเตอร์เน็ต Facebook หรือบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ควรศึกษาแหล่งที่มาที่ไปด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นโฆษณาแล้วก็จะทำบุญทันที เพราะทุกวันนี้มีการกิจกรรมหาเงินจากความเชื่อของคนในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย
- หากศึกษาดีแล้ว มีความพร้อมที่จะไถ่ชีวิตโค-กระบือแล้ว ก็ให้ตั้งจิตคิดที่จะช่วยเขาให้พันภัยมีชีวิตรอดต่อไป คือเจตนาของเราคือช่วยตัวที่จะถูกฆ่าวันนี้ เวลานี้ หรือตอนนี้ เราไม่มีส่วนรู้ส่วนเห็นในการกระทำของบุคคลอื่นที่จะฆ่าวัวตัวต่อไป เพราะบางคนไถ่ชีวิตโค-กระบือตัวนี้มาแล้วก็คิดหนักว่าเป็นการทำบาปทำให้ตัวถัดไปถูกฆ่าเร็วขึ้น คือหน้าที่ของเราคือช่วยตัวที่จะถูกฆ่าตอนนี้ ส่วนเขาจะนำตัวอื่นมาฆ่าอีกเราไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เราจะเป็นบาปได้อย่างไร
- ความเชื่อ การให้ทาน ความเมตตา ควรมีปัญญาและอุเบกขากำกับด้วย เราช่วยได้ก็ช่วย ช่วยเพราะเป็นเรื่องดี ช่วยเพราะต้องการให้เขาได้พ้นทุกข์ เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ เราไม่มีส่วนร่วมในการทำบาปนั้น ไม่ช่วยบาปก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ถ้าช่วยไม่ได้ก็ควรวางอุเบกขา ถือว่าสัตว์ทั้งหลาย กัมมัสสะกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน กัมมะทายาทา เป็นผู้รับผลของกรรม กัมมะโยนิ เป็นผู้มีกรรมโดยกำเนิด กัมมมะพันธุ เป็นผู้มีกรรเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะปะฏิสะระณา เป็นผู้มีกรรมเป้นที่พึ่งพาอาศัย ยัง กัมมัง กะริสสันติ กระทำกรรมอันใดไว้ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว ตัสสะ ทายาทา ภะวิสันติ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
การไถ่ชีวิตโค-กระบือทำให้สัตว์ถูกฆ่าน้อยลงไหม
การไถ่ชีวิตวัวควายที่กำลังถูกฆ่า คงไม่ได้ทำให้สัตว์ที่ถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหารลดลง เพราะเราไถ่ชีวิตวัวตัวนี้ไป เขาก็นำวัวตัวใหม่มาฆ่าแทนเป็นไปแบบนี้เรื่อยไป แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ จิตที่ประกอบด้วยความกรุณาโดยมีความเมตตาเป็นพื้นเดิมของรานั้น มีเจตนาที่จะช่วยชีวิตของสัตว์ที่กำลังถูกฆ่าในเวลานั้น เมื่อช่วยได้แล้วก็เป็นอันว่าเราช่วยแล้ว ส่วนเขาจะทำการฆ่าตัวอื่นก็เป็นเรื่องของเขาเราไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า เราไม่มีส่วนรู้เห็นในการฆ่านั้น
ฆ่าสัตว์เพื่อนำเป็นอาหารบาปไหม
การฆ่าสัตว์ การพรากชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะนำมาเป็นอาหาร แจกจ่าย ขาย เลี้ยงญาติพี่น้อง หรือถวายพระ การฆ่านั้นเป็นบาปทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการถวายพระ การให้ทานนั้นจะไม่เป็นบุญนะ มันคนละเจตนากัน อย่างที่ท่านเรียกว่าต่างกรรมต่างวาระกัน การฆ่าก็คือการฆ่า การให้ทาน การทำบุญก็คือการทำบุญ มันคนส่วน คนละเวลา คนละเจตนากัน
การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปไหม
คำถามนี้กว้างอยู่นะ เพราะไม่ได้ระบุว่าเป็นเนื้อสัตว์มาจากไหน ? โดยวิธีใด ? กินเนื้อสัตว์ที่ตายโดยธรรมชาติ วัวถูกฟ้าผ่าตาย เราไม่มีส่วนรู้เห็นในการตายของสัตว์นั้น เรานำมาทำเป็นอาหาร แบบนี้จะบาปได้อย่างไร หรืออย่างที่บางคนกินรกวัวรกควายในเวลาวัวควายตกลูกซึ่งเป็นเนื้อสัตว์เหมือนกัน แบบนี้ก็ไม่บาปเพราะเราไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์
ซื้อเนื้อสัตว์ตามตลาดมากินบาปไหม
ในส่วนของการกินนั้นไม่เป็นบาปอยู่แล้ว ที่นี้ประเด็นคือเรามีส่วนในการทำบาปนั้นไหม พระพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุว่าให้เธอฉันเนื้อที่มีความบริสุทธิ์โดยส่วน 3 คือ 1. ไม่ได้เห็นเขาฆ่า 2. ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน 3. ไม่ได้เกิดความสงสัยว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน สำหรับอุบาสกอุบาสิกา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ แต่ห้ามอุบาสกอุบาสิกา ฆ่าสัตว์ และห้ามซื้อขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร อันนี้ชัดเจนแล้ว แม้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแก่อุบาสกอุบาสิกาเกี่ยวเนื้อบริสุทธิ์โดยส่วน 3 ประการนี้ แต่ก็สามารถอนุโลมตามได้ คือเนื้อที่ขายตามตลาดนั้น ต้องเป็นเนื้อที่เขาขายโดยปกติของเขา ไม่ได้เกิดจากการสั่งของเรา เห็นเขาขายเราก็ซื้อไป ไม่เห็นก็ไม่ถามหา ไม่ถามว่าวันนี้ไม่มีปลาหรือ วันนี้ทำไมไม่มีเนื้อวัว อย่างนี้เป็นต้น
ไม่ฆ่าวัวแล้วจะกินเนื้อได้อย่างไร
มีคำถามว่า ถ้าไม่ฆ่าวัวแล้วจะกินเนื้อได้อย่างไร ทำไมไม่ห้ามกินเนื้อเสียเลยล่ะ ต้องทำความเข้าใจว่า การฆ่ากับการกินมันคนละส่วนกัน พระพุทธเจ้าห้ามการฆ่าแต่ไม่ได้ห้ามการกินเนื้อและก็ไม่ได้บังคับว่าต้องกินเนื้อเช่นกัน ห้ามการฆ่า ทุกคนไม่ฆ่าสัตว์เป็นเรื่องดี จะกินเนื้อจากไหน ก็ไม่ต้องกินเนื้อ หรือจะหากจะต้องกินก็กินเนื้อสัตว์ที่ตายโดยธรรมชาติ หรือถูกสัตว์อื่นฆ่าตายแล้วทิ้งเนื้อไว้ อย่างสมัยก่อนเสือแอบย่องเข้ามาล้มวัวในคอกแต่มันกินไม่หมด เนื้อแบบนี้กินได้
พระพุทธเจ้าห้ามฆ่าสัตว์ แต่ไม่ได้ห้ามกิน บางคนว่าจะเป็นไปได้อย่างไร มันจะไม่ขัดแย้งกันหรือ อธิบายว่า ไม่ขัดแย้งกัน เหมือนพระพุทธเจ้าห้ามขโมยเงินคนอื่น แต่ไม่ได้ห้ามใช้เงินที่ได้มาโดยชอบธรรม ในส่วนของการกินเนื้อก็เหมือนกัน ให้เป็นเนื้อที่ได้มาโดยชอบธรรม ไม่ใช่เนื้อที่ได้มาจากการฆ่าเอง แต่ถ้ากินก็ผิดตรงฆ่าไม่ได้ผิดตรงที่กินยกเว้นพระผิดทั้งฆ่าเองและกินด้วย ไม่ใช่เนื้อที่ได้จากการสั่งคนอื่นฆ่า ถ้ากินเนื้อนั้นก็ผิดตรงสั่งคนอื่นฆ่าไม่ได้ผิดตรงที่กินยกเว้นพระผิดทั้งสั่งคนอื่นฆ่าและกินด้วย แต่ถ้าไม่เนื้อที่เขาขายทั่วไปไม่มีเนื้อที่ตายตามธรรมชาติเลยก็ไม่ต้องกิน เหมือนคนไม่เงินก็ไม่ต้องใช้ แต่ถ้าอยากมีเงินใช้ก็ต้องหาเงินโดยสุจริตไม่ลักขโมยหรือโกงเขา การหาเงินกับการใช้เงินมันคนละส่วนกันฉันใด การฆ่ากับการกินมันก็คนละส่วนกันฉันนั้น
บทความนี้ผมเขียนขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาอันน้อยนิด อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง โปรดใช้วิจารณญาณและทำการศึกษาเพิ่มเติม