คำว่า ปริตร (ไทยอ่านว่า ปะ-หริด) เป็นคำที่เขียนตามแบบสันสกฤต ส่วนบาลีเขียนเป็น ปริตฺต (อ่านว่า ปะ-ริด-ตะ) แปลว่า ความต้านทาน เครื่องป้องกันรักษา เครื่องต้านทาน เครื่องป้องกันรักษา รวมหมายถึงเครื่องราง ของขลัง ของที่ช่วยบรรเทา วิธีป้องกันรักษา
บทสวดโพชฌังคปริตร เป็นบทที่ประพันธ์ขึ้นใหม่หลังยุคพระไตรปิฎก โดยนำเอาเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงจากพระสูตร ๓ สูตร ได้แก่ กัสสปโพชฌังคสูตร, มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร, จุนทโพชฌังคสูตร มาประพันธ์เป็นบทปริตรเพื่อใช้สวดตั้งสัตยาธิษฐาน เพื่อให้เกิดอานุภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
บทสวดโพชฌงคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวาโรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง
สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
โพชฌงคปริตรแปล
โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
-โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
-วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
-สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา
-๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า
ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ตรัสไว้ชอบแล้ว
ภาวิตา พะหุลีกะตา
-อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
-ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิส๎วา
-ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก
โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
-จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
-ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรมก็หายโรคได้ในบัดดล
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
-ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชา(พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง
-รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแล ถวายโดยเคารพ
สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
-ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
-ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้นหายแล้วไม่กลับเป็นอีก
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
-ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้วถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
ใจความโพชฌังคปริตร
เป็นการกล่าวอ้างถึงความจริง ๔ ประการ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ
๑. ธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ อันได้แก่
๑.๑ สติ ความระลึกได้
๑.๒ ธัมมวิจยะ การพิจารณา การเลือกเฟ้นธรรม
๑.๓ วิริยะ ความเพียร, การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
๑.๔ ปีติ ความอิ่มใจ
๑.๕ ปัสสัทธิ ความสงบใจ
๑.๖ สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งใจ
๑.๗ อุเบกขา ความวางเฉยด้วยความเข้าใจ
ซึ่งธรรมทั้ง ๗ นี้ เป็นธรรมสามารถนำผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานได้จริง
๒. สมัยหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ อาพาธหนัก พอได้ฟังโพชฌงค์ ๗ ก็หายจากอาการอาพาธจริง
๓. ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทะสาธยายโพชฌงค์ ๗ ให้สดับ ก็ทรงหายประชวรนั้นจริง
๔. อาพาธของท่านทั้ง ๓ หายไปไม่กลับเป็นอีก ดุจกิเลสที่ละแล้วไม่กลับกำเริบอีกจริง
ปิดท้ายด้วยการตั้งสัจจะอ้างถึงความจริง ๔ ประการนี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็ไม่แปลกที่ท่านเหล่านั้นจะหายจากอาพาธได้จริง เหตุว่า
๑. โพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนั้น เป็นธรรมที่ยังบุคคลผู้ปฏิบัติให้ถึงความบริสุทธิ์คือพระนิพพาน
๒. บุคคลผู้ฟังโพชฌงค์ ๗ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย
๓. บุคคลผู้ฟังโพชฌงค์ ๗ นั้น เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว หมดความยึดมั่นถือมั่นในนามรูปหรือขันธ์ห้าแล้ว (แต่ไม่ได้หมายความว่าที่อาพาธนั้น เพราะท่านมีความยึดมั่นถือมั่น)
เราทั้งหลายผู้สาธยายและผู้ฟังบทสวดโพชฌงคปริตร ฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้ความหมายแห่งโพชฌงค์ ๗ ประการ อีกทั้งยังเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและขันธ์ห้าอยู่ แต่ก็อาศัยสัจจะ หรือความจริงที่เคยเกิดขึ้น ๔ ประการที่กล่าวมาแล้วนั้นเพื่อให้เกิดขึ้นอีกครั้งกับผู้สวดหรือผู้ที่เราสวดให้ ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แล้วแต่อินทรีย์หรือหรือวิบากกรรมของผู้นั้น
อนึ่งในอรรถกถากล่าวว่า ทั้ง ๓ นั้น อาพาธอันเกิดแต่ความเย็นอ่อน ๆ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการถูกต้องกับลมจากต้นไม้มีดอกเป็นพิษที่บานแล้วที่เชิงแห่งภูเขา ฉะนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า โพชฌงค์ ๗ หรือโพชฌังคปริตรนั้นจะสามารถรักษาโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้น หรือโรคอันเกิดแต่สมุฏฐานอื่นให้หายได้
แหล่งข้อมูล
https://www.lcbp.co.th/บทสวดมนต์/โพชฌังคปริตร-พิชิตโรคภั/
http://www.watpamahachai.net