บารมีในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นมี 10 ประการ ได้แก่ ทาน · ศีล · เนกขัมมะ · ปัญญา · วิริยะ · ขันติ · สัจจะ · อธิษฐาน · เมตตา · อุเบกขา
ในบรรดาบารมีทั้ง 10 ประการนี้ มี ทาน ศีล ปัญญา แต่ไม่มีสมาธิอยู่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีคำถามว่า สมาธิ จัดอยู่ในบารมีข้อใดในบารมีทั้ง 10 ประการนั้น
ความหมายของบารมี
บารมีในที่นี้ มิได้หมายถึงอำนาจบารมีที่มีไว้ข่มคนอื่น คำว่า บารมี หมายถึง ปฏิปทาอันยวดยิ่ง แสดงความหมาย 2 ประการ ประการที่หนึ่ง คือ ปรม หรือ บรม แปลว่าดีเลิศ สูงสุด ประการที่สองหมายถึง การไป คือ ไปให้ถึงอีกฝังหนึ่ง ได้แก่คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด อธิบายว่าคือความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น พระพุทธเจ้า พระอสีติมหาสาวก เป็นต้น
บารมี 10 ประการ
- ทาน การให้
- ศีล การรักษาศีลให้เป็นปกติ
- เนกขัมมะ การออกจากกาม
- ปัญญา ความรู้
- วิริยะ ความเพียร
- ขันติ ความอดทนอดกลั้น
- สัจจะ ความตั้งใจจริง เอาจริง จริงใจ
- อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง
- เมตตา ความรักด้วยความปรานี
- อุเบกขา ความวางเฉย
สมาธิ จัดเข้าในบารมีข้อใด
ตามคำถามในหัวข้อข้างตน มีบางท่านจัดสมาธิเข้าในเนกขัมมะก็มี (เป็นการบำเพ็ญเพื่อออกจากกามารมณ์ต่าง ๆ)
บารมี 10 ประการนี้ สามารถแยกออกเป็นหมวด ได้ 3 หมวด ตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา โดยการจัดออกเป็นคู่ ๆ ตามบารมีที่สนับสนุนกันในเวลาที่บำเพ็ญ ได้แก่
ศีล มี 4 ได้แก่ ทาน คู่กับ เมตตา ศีล คู่กับ เนกขัมมะ
สมาธิ มี 4 ได้แก่ วิริยะ คู่กับ ขันติ สัจจะ คู่กับ อธิษฐาน และ
ปัญญา มี 2 ได้แก่ ปัญญา คู่กับ อุเบกขา
อธิบายบารมีที่สนับสนุนกันในเวลาที่บำเพ็ญ ดังนี้
ทานบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย ศีลบารมี (ทานที่ให้โดยผู้มีศีลยอมสมบูรณ์ยิ่ง)
ศีลบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย เนกขัมมะบารมี (ศีลสมบูรณ์ได้ด้วยการการสำรวมอินทรีย์ทั้ง6)
เนกขัมมะบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย ปัญญาบารมี (การสำรวมในกามสมบูรณ์ด้วยการพิจารณาตามจริงด้วยปัญญา)
ปัญญาบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย วิริยะบารมี (ปัญญาจะฉลาดลึกซึ้งกว้างขวางด้วยการหมั่นพิจารณาหมั่นตั้งคำถามหมั่นศึกษา)
วิริยะบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย ขันติบารมี (ความเพียรพยายามจะต่อเนื่องได้เพราะอาศัยความอดทน)
ขันติบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย สัจจะบารมี (ความอดทนจะมั่นคงได้ด้วยความตั้งใจจริง)
สัจจะบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย อธิฏฐานบารมี (ความตั้งใจจริงมุ่งมั่นอยู่ได้ด้วยการมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน)
อธิฏฐานบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย เมตตาบารมี (ทุก ๆ เป้าหมายในชีวิตต้องประกอบด้วยเมตตาธรรมไม่สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้ใด)
เมตตาบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย อุเบกขาบารมี (ความมีเมตตาต้องมีการให้อภัยละวางความอิจฉาปราศจากอคติยอมรับผลแห่งเหตุ)
อุเบกขาบารมี สมบูรณ์ได้ด้วย ทานบารมี (ความมีอุเบกขามิใช่ความวางเฉยแบบไม่สนใจแต่ต้องรู้จักเสียสละ)
ในแนวคิดบารมีของเถรวาทนั้น ผู้ที่บำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการ บารมีแต่ล่ะอย่างย่อมส่งเสริมสนับสนุนให้กันและกัน จนทวีคูณจนหาประมาณมิได้ ซึ่งบารมีที่สั่งสมอบรมอย่างเต็มที่แล้วสามารถทำปุถุชนคนธรรมดาให้สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
กลับมาที่ สมาธิ หรือการบำเพ็ญภาวนา อาจจัดเข้าได้ในบารมีทั้ง 10 ประการ หรือย่อมส่งเสริมมาบารมีทั้ง 10 ประการ ดังนี้
ผู้ที่สมาธินั้นถือว่าเป็นผู้เสียสละกายใจ และเวลา เสียสละตนเองในการบำเพ็ญเพียร ซึ่งผลแห่งการบำเพ็ญเพียรนั้นย่อมยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น จัดเข้าในทานบารมี (ในคำสมาทานกรรมฐานเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาบางแห่งจึงมีคำว่าขอมอบกายถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา)
ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิ เป็นผู้สำรวมกายวาจารักษาศีลเป็นปกติ จัดเข้าในศีลบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิเป็นหนีห่างจากกามคุณ ข่มกามคุณด้วยกำลังแห่งสมาธิ จัดเข้าในเนกขัมมะบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิ พิจารณาเห็นความเป็นจริงของไตรลักษณ์ หรืออบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นปัญญาบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิมีความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นวิริยะบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิมีความอดทนมั่นคงในการบำเพ็ญ จัดเป็นขันติบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิมีความตั้งใจจริงมุ่งมั่นอยู่ จัดเข้าในสัจจะบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิมีเป้าหมายในการบำเพ็ญอย่างชัดเจนในการบำเพ็ญสมาธินั้น จัดเข้าในอธิษฐานบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิย่อมประกอบด้วยเมตตาธรรมไม่สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้ใด เป็นเมตตาบารมี
ผู้บำเพ็ญสมาธิเป็นผู้วางอุเบกขาในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา จัดเป็นอุเบกขาบารมี
ข้อมูลบางส่วนจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/บารมี