คำสมาทานกรรมฐานก่อนเจริญภาวนา แบบโบราณ
เมื่อทำการถวายเครื่องบูชาแด่พระรัตนตรัยแล้ว พึงทำการกล่าวบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระ แต่นั้นหากมีความประสงค์จะเจริญกรรมฐานต่อไป พึงกล่าวคำสมาทานกรรมฐาน ตามแบบของครูอาจารย์ที่ท่านให้ไว้ หรือ คำสมาทานกรรมฐานก่อนเจริญภาวนา แบบโบราณ ดังนี้
อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งพระกรรมฐาน ขอขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ขอจงบังเกิดขึ้น ในขันธสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ สามหนและเจ็ดหน ร้อยหน และพันหน ด้วยความไม่ประมาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.
กรรมฐาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
สมถกรรมฐาน (อ่านว่า สะ-มะ-ถะ-กำ-มะ-ถาน) เป็นอุบาย การยังกิเลส นิวรณ์ทั้งหลายให้สงบ ระงับ
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นปัญญา เห็นโดยอาการต่างๆ มีความไม่เที่ยง เป็นต้น
กรรมฐาน 2 นี้ เรียกว่า ภาวนา 2 ได้เช่นกัน เป็น สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา
สมาธิ คือความตั้งมั่นแห่งจิต, ภาวะที่จิตสงบนิ่งจับอยู่ที่อารมณ์อันเดียว : concentration มี 3 ได้ แก่
ขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ — momentary concentration)
อุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่ — access concentration)
อัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่ — attainment concentration)
สมาธิทั้ง 3 นี้เป็นผลของ สมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา
วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง
วิปัสสนาญาณ นี้ท่านว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการเจริญสมถภาวนาในระดับใดระดับหนึ่งแล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนา หรือบางท่านอาจจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนาเลยก็มี คือสามารถรู้เห็นตามความจริงได้ เกิดปัญญาแจ่มแจ้งได้
ทำไมต้องสมาทานกรรมฐาน
สำหรับผู้เริ่มภาวนา ควรได้สมาทานกรรมฐาน หรือเรียกว่าขึ้นกรรมฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทาง ใช้เป็นกำลังใจในการภาวนา เป็นการน้อมนำพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ มาเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เพื่อให้ผู้เริ่มทำกรรมฐานมีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีความเพียรที่หนักแน่น ไม่ย่อท้อ