พุทธคุณไม่ได้หายไปไหน
พุทธคุณ คืออะไร แปลง่าย ๆ ว่า คุณความดีของพระพุทธเจ้า
อันว่า คุณของพระพุทธเจ้านั้นสุดจะพรรณนา คือกล่าวไม่หมด ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านยกตัวอย่างเหมือนการยื่นไม้ขึ้นไปบนอากาศ ใครมีไม้หนึ่งศอกก็ยื่นไปบนอากาศได้แค่หนึ่งศอกคืบ ใครมีไม้ยาวหนึ่งวาก็ยื่นไปบนอากาศได้แค่หนึ่งวา แต่แท้จริงแล้ว การยื่นไม้ขึ้นไปบนอากาศนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถยื่นขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ตามความสามารถแห่งตน พระคุณของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ไม่มีที่สิ้นสุด พรรณนาไม่จบสิ้น ตามแต่ใครจะมีสติปัญญาพรรณนาได้มากน้อยแค่ไหน สมดังคำกล่าวที่ว่า อัปปมาโณ พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ คุณของพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คุณของพระธรรมไม่มีประมาณ คุณของพระสงฆ์ไม่มีประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ทั้งหมายสรุปพุทธคุณเพื่อใช้เป็นแนวทางแห่งการระลึกนึกถึง หรือที่เรียกว่า พุทธานุสสติ ไว้ดังนี้
พุทธคุณ ๒ ประการ
๑. อัตตัตถคุณ คือพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลส่วนของพระองค์เอง เช่น พระปัญญาคุณ, พระบริสุทธิคุณ…ฯ
๒. ปรัตถคุณ คือพระคุณที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เช่น มหากรุณาธิคุณ เป็นต้น
พุทธคุณ ๓ ประการ
พุทธคุณ ๓ ประการนี้ ขยายออกมาจาก พุทธคุณ ๒ ประการข้างต้น ได้แก่
๑. พระปัญญาคุณ ทรงมีปัญญารอบรู้ในธรรมทั้งหลายในลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑) รู้ตามความเป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ
๒) รู้กิจ ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ได้รู้ตามความเป็นจริงนั้น
๓) รู้ว่ากิจที่จะต้องกระทำในสิ่งนั้น ๆ ว่าได้กระทำเสร็จแล้ว
๔) รู้ข้อปฏิบัติที่ทำให้กิจนั้น ๆ สำเร็จ
โดยสรุป ก็คือรู้อริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง
* อีกนัยหนึ่งทรงรอบรู้ตามที่กล่าวไว้ ในวิชชา ๘ คือ รู้ในอริยสัจจ์ ๔, รู้ในขันธ์ ที่เป็นอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต, และรู้ในปฏิจจสมุปบาท ฯ
นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้รู้สรรพสิ่ง “สัพพัญญุตญาณ” เป็นผู้รอบรู้ในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ คือ
๑) อัตถปฏิสัมภิทา รอบรู้ในผล
๒) ธัมมปฏิสัมภิทา รอบรู้ในเหตุ
๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา รอบรู้ในภาษา การสื่อสาร การใช้โวหารต่าง ๆ
๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา รอบรู้แตกฉานในการโต้ตอบ ในการแก้ปัญหา
* อีกนัยหนึ่ง ทรงรอบรู้อินทรีย์ของสรรพสัตว์ ที่เรียกว่า “อินทริยปโรปริยัตติญาณ”, รู้การจุติ-อุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” ….เป็นต้น
๒. พระวิสุทธิคุณ คุณคือความหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
๓. พระมหากรุณาธิคุณ คุณ คือความมีพระกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พุทธคุณ ๓ ประการ อีกนัยหนึ่ง
๑. ทรงเป็นผู้มีพระคุณ เพราะตรัสรู้ธรรมแล้ว นำธรรมนั้น ๆ และวิธีการเข้าถึงธรรมนั้น มาแสดงสั่งสอน (โลกุตตรธรรม ๙) คือเป็นดุจบุพพการี
๒. ทรงเป็นผู้มีพระคุณ ตามที่ได้คุณวิเศษนั้นจริง ๆ เช่น เป็นผู้มีอรหันตคุณ ก็เพราะทรงมีคุณคือห่างไกลกิเลส, หรือเป็นผู้หักกรรมแห่งสงสารเสียได้….ตามความเป็นจริง
๓. ทรงเป็นผู้มีคุณ เป็นบ่อเกิดแห่งพระคุณ เพราะผู้ที่ศรัทธา เลื่อมใส หรือยอมรับนับถือแล้ว….ย่อมได้รับประโยชน์อันหาประมาณมิได้….ตามสมควรแก่กำลังของอินทรีย์ของผู้นั้น ๆ
พุทธคุณ ๙ ประการ
๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์ มีคำแปลและความหมายอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้
๑.๑ เป็นผู้ควร คือ ผู้ทรงสั่งสอนสิ่งใดก็ทรงทำสิ่งนั้นได้ด้วย เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๑.๒ เป็นผู้ไกล คือ ผู้ทรงไกลจากกิเลสและบาปกรรม เพราะทรงละได้เด็ดขาดแล้วทั้งโลภ โกรธ และหลง
๑.๓ เป็นผู้หักซี่กำแพงล้อสังสารวัฏ คือ ผู้ทรงตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏได้แล้ว
๑.๔ เป็นผู้ไม่มีข้อลี้ลับ คือ ผู้ทรงไม่มีบาปธรรมทั้งที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น และเป็นผู้ควรได้รับความเคารพของผู้อื่น
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นการค้นพบด้วยพระองค์เอง ไม่มีครู อาจารย์เป็นผู้สอน
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ มีวิชชาความรู้ตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐาน จนกระทั่งความรู้ระดับสูงสุด และมีจรณะความประพฤติดีประพฤติได้ตามที่ทรงรู้ เช่น ความสำรวมในศีล เป็นต้น
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดี คำว่า “ไปดี” มีความหมายหลายนัยคือ
๑.เสด็จดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางเดินที่ดี
๒.เสด็จไปสู่พระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่ดียิ่ง
๓.เสด็จไปดีแล้ว เพราะทรงละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
๔.เสด็จไปปลอดภัยดี เพราะเสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก
๕. โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรอบรู้โลกทางกายภาพ เช่นโลกมนุษย์ สัตว์โลก สังขารโลก โอกาสโลก และทรงรู้โลกภายในคือ ทุกข์และการดับทุกข์
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนได้อย่างยอดเยี่ยม คือ พระองค์ทรงรู้นิสัย (ความเคยชิน) อุปนิสัย(มีแวว) อธิมุตติ(ความถนัด) อินทรีย์(ความพร้อม) ของบุคคลระดับต่าง ๆ และทรงฝึกสอนด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะแก่ความเคยชิน แววถนัด และความพร้อมของเขาให้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ พระองค์ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติที่ควรเป็นครูของบุคคลในทุกระดับชั้น เพราะพระองค์ทรงรอบรู้และทรงสอนคนได้ทุกระดับ ทรงสอนด้วยความเมตตา มิใช่เพื่อลาภสักการะและคำสรรเสริญ แต่ทรงมุ่งความถูกต้องและประโยชน์สุขของผู้ฟังเป็นใหญ่ ทรงสอนให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของผู้ฟัง และทรงทำได้ตามที่ทรงสอนนั้นด้วย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือ พระองค์ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ยึดถือกันมาผิด ๆ ด้วย ทรงรู้จักฐานะ คือ เหตุที่ควรเป็น เปรียบได้กับคนตื่นจากหลับแล้วทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่งพระองค์ทรงตื่นแล้วเป็นอิสระจากอำนาจของโลภ โกรธ หลง แล้ว เมื่อทรงตื่นแล้วก็ทรงแจ่มใสเบิกบาน มีพระทัยบริสุทธิ์สะอาด
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค ผู้ทรงแจกแบ่งธรรม คือพระองค์ทรงเพียบพร้อมได้ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย อันเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา นับเป็นผู้มีโชคดีกว่าคนทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงทำการใดก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ ส่วน “ภควา” แปลว่า “ทรงแจกแบ่งธรรม” หมายถึง มีพระปัญญาล้ำเลิศ จนสามารถจำแนกธรรมที่ลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจง่าย และมีพระกรุณาธิคุณจำแนกจ่ายคำสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ให้รู้ตาม
พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ สรุปเข้าในพุทธ ๓ ประการ ได้ดังนี้
๑. พระคุณข้อที่ ๑,๓ และ ๙ สรุปเข้าใน พระวิสุทธิคุณ
๒. พระคุณข้อที่ ๒,๕ และ ๘ สรุปเข้าใน พระปัญญาคุณ
๓. พระคุณข้อที่ ๔,๖ และ ๗ สรุปเข้าใน พระมหากรุณาธิคุณ
พุทธคุณ ไม่ได้หายไป หรือว่าไม่มี แม้เราจะปฏิบัติตามไม่ได้, หรือไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้ แต่เวไนยสัตว์อื่น ๆ ที่สามารถปฏิบัติและบรรลุธรรมได้ ก็มีอยู่ไม่น้อย แม้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีอยูผู้ปฏิบัติตามและได้ผลตามแห่งการปฏิบัติของตน
แม้หากเราจะพูดในโวหารที่ว่า “เมื่อเราปฏิบัติตามไม่ได้ บรรลุคุณธรรมต่าง ๆ ไม่ได้ ก็เป็นอันว่า “พระพุทธคุณ” ไม่มี หรือ ไม่ควรอ้างพุทธคุณ …
แท้ที่จริงแล้ว “พระพุทธคุณ” ไม่ใช่อำนาจของวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง หรืออำนาจของสิ่งวิเศษที่จะพึงได้จากการอ้อนวอน บันดาล ให้เรา หรือให้ใคร ๆ เป็นไปต่าง ๆ หรือได้ตามที่ใจปรารถนา การจะบรรลุ หรือการเข้าถึงธรรมหรือคุณวิเศษต่าง ๆ ได้นั้น ต้องอาศัยการปฏิบัติ อาศัยบุญญาบารมี อินทรีย์ทั้ง ๕ ของเวไนยสัตว์ นั้น ๆ เอง
พระพุทธเจ้า พุทธคุณ หรือคุณของพระพุทธเจ้าต่าง ๆ ไม่ได้มาดลบันดาลให้ใคร ๆ สำเร็จได้ ดังคำบาลีว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ, อกฺขาตาโร ตถาคตา พวกเธอ (เท่านั้น) จะพึงทำกิจที่ควรทำด้วยความเพียร (ของพวกเธอเอง) พระตถาคตเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น)
เปรียบเหมือนมารดาบิดาผู้ให้กำเนิดบุตร และเลี้ยงดูบุตรมา แม้บุตรทั้งหลายจะรู้ในพระคุณหรือไม่รู้ในพระคุณ, จะตอบแทนคุณหรือไม่ได้ตอบแทนคุณก็ตาม มารดาบิดาผู้ให้กำเนิด ก็ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้มีพระคุณ เป็นผู้ประกอบด้วยคุณ อยู่นั้นเอง ฯ
อีกประการหนึ่ง แม้เราทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า หรือในคุณของพระองค์ในลักษณะต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมสูงสุด คือโลกุตตรธรรม ๙ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ถือว่าได้สร้างบุญกุศลไว้ในพระะพุทธศาสนาอย่างมากมาย เพราะอาศัยศรัทธานั้น ไม่สามารถนับคำนวณได้
ที่มา :
https://www.kanlayanatam.com/sara/sara12.htm
http://dhamma.serichon.us/2017/11/11/มาทำความเข้าใจคำว่า-พุ