พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ ไม่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายหรือ
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องโลกเป็นทุกข์จะมิอาจเป็นการสอนให้คนมองโลกในแง่ร้ายและทำให้ใจไม่สบายไปหรือเปล่า?
ไม่เป็นเช่นนั้นหรอกการสอนให้รู้จักความเป็นทุกข์แห่งสรรพสิ่งนั้นเป็นการแสดงความจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ เหมือนกับคนไปอยู่ในถิ่นที่อากาศร้อนจัดเราบอกเขาว่าอากาศที่นี่ร้อนจัดนะ แทนที่จะเป็นการทำให้เขาไม่สบายใจหรือมองสถานที่นั้นไปในทำนองไม่น่าอยู่ไม่น่าอาศัยแล้ว ทำให้คนนั้นสามารถเตรียมใจเผชิญกับความร้อนซึ่งตนจะต้องประสบแน่นอน ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยให้คนนั้นได้หาอุบายวิธีหลีกหนีความร้อนด้วยการสร้างที่อยู่อาศัยใช้สิ่งช่วยขจัดความร้อนเป็นต้น บอกอย่างนี้เป็นผลดี หรือผลเสียแก่คนฟังเล่า ?
การที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการว่า กันเต็มที่แล้วท่านแสดงว่า
“ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรจะดับ”
ซึ่งเหมือนกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า “ในโลกนี้มีแต่ความร้อนการที่เรารู้สึกว่าเราเย็นนั้นเป็นเพราะความร้อนลดนั้นเองแม้จะลดลงไปเลยศูนย์ก็ถือว่าเป็นความร้อนลดหาใช่ความเย็นไม่”
ปัญหาเรื่องความทุกข์นั้นที่เราหลงประเด็นกันมากคือ คนส่วนมากตัดสินคำว่า”ทุกข์” ว่าทุกข์ก็คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ดังนั้นจึงมองไม่ค่อยจะเห็นว่าคนเราเป็นทุกข์จริงหรือ?
ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นความทุกข์ที่เข้ากันนั้นเป็นอาการของเวทนาประการหนึ่งเท่านั้นเอง คือเป็นส่วนหนึ่งแห่งความหมายว่าทุกข์เท่านั้น ท่านได้ให้นิยามความหมายของคำว่าทุกข์ที่ปรากฎแก่สรรพสัตว์และสรรพสิ่งว่า
“มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาดำรงอยู่ใน สภาพเดิมไม่ได้ มีการเบียดเบียนให้เร่าร้อน”
ความหมายของทุกข์ในอริยสัจซึ่งเจาะจงเอาความทุกข์ที่ปรากฏแก่สิ่งมีชีวิตคือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์นั้น ปรากฏตัวให้เห็นในรูปของ “เบียดเบียนแต่ละอย่างเกิดขึ้นด้วยปัจจัยปรุงแต่งเร่าร้อนมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
ด้วยความหมายนี้เองจะพบว่าแม้ความสุขที่คนรู้จักว่าตนเป็นสุขนั้นเป็นอาการของความทุกข์อย่างหนึ่งเพราะอะไร?
“เพราะความสุขนั้นเกิดขึ้นด้วยปัจจัยปรุงแต่งหาได้เกิดขึ้นลอยๆไม่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะ ทำหน้าที่เบียดเบียนความทุกข์ให้เบาลง แต่ความสุขก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอาจเป็นสุขเพิ่มขึ้นหรือสุขน้อยลง”
การสอนเรื่องทุกข์จึงเป็นการบอกกล่าวความจริงให้ทราบกันไว้ตามที่เป็นจริงอย่างไรเท่านั้นเอง ที่สำคัญที่สุดคือ คำที่เป็นภาษาอื่นนั้นผู้ศึกษาควรศึกษาความหมายของภาษานั้นๆให้เข้าใจคำว่า ทุกข์ เป็นภาษาบาลี ควรทำความเข้าใจให้ทราบว่าคำนี้ท่านนิยามความหมายไว้อย่างไร เมื่อทราบได้แล้วจะมีความเข้าใจในเจตนารมณ์แห่งคำสอนที่มีคำนั้นๆปรากฏอยู่ได้ชัดเจนขึ้น