ศาสนาพุทธสอนให้อยู่คนเดียวเป็นการเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดใช่ไหม
ศาสนาคริสต์สอนให้รักคนอื่นเหมือนกับรักตนเองแต่ศาสนาพุทธสอนให้อยู่คนเดียวเป็นการเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดใช่ไหม?
คนโบราณนั้นท่านมีความคิดเห็นคมคายมาก เมื่อท่านเห็นว่าใครพูดอะไรโดยขาดเหตุผลความเป็นจริงท่านจะตำหนิว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
เรื่องปัญหาข้างต้นนั้นเป็นการพูดแบบมองไม่ตลอดสายทั้งฝ่ายศาสนาคริสต์และพระพุทธศาสนา เพราะคำสอนระดับศาสนานั้นจะต้องมองให้ตลอดสายว่าอะไรเป็นอะไร และเป็นคำสอนในระดับใด จึงจะไม่เกิดความสับสนในการทำความเข้าใจสำหรับการสร้างความรู้สึกต่อคนอื่นนั้นพระพุทธศาสนาไม่สอนเพียงแต่ให้สร้างความรู้สึกอันดีต่อคนเท่านั้น แต่ก้าวไกลไปถึงสรรพสัตว์โดยใช้คำว่า
สพฺเพ สตฺตา แปลว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
แต่ท่านไม่ใช้คำว่าให้สร้างความรัก เพราะความรักนั้นในความหมายของพระพุทธศาสนาท่านใช้คำว่า เปมะ แปลว่า ความรัก มีลักษณะที่ไม่ควรสร้างให้มากนักเพราะว่า
“ความรักมีลักษณะต้องการได้รับการตอบสนองคือให้คนอื่นรักตนตอบถ้าเขาไม่รักตอบก็กลายเป็นโทสะคือความโกรธ ประทุษร้าย ในลักษณะที่เรียกกันว่า รักมากแค้นมาก หากคนหรือสิ่งที่รักพลัดพรากจากไปจิตจะกลายเป็นความเศร้าโศกแต่ในกรณีที่รักมากไปจิตก็จะกลายเป็นอคติคือมีความลำเอียงเพราะเหตุว่ารักใคร่กัน”
พระพุทธศาสนาสอนให้คนมี
เมตตา คือความปรารถนาดีต่อกันต้องการที่จะเห็นคนและสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างไม่มีเวรมีภัยไม่เบียดเบียนกัน มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะของตน
กรุณา คือเหมือนเห็นคนอื่นเศร้าโศกประสบความผิดหวังเป็นต้น ก็ช่วยเหลือเขาตามกำลังที่จะช่วยได้
มุทิตา ในกรณีที่เห็นคนอื่นเขาได้รับความสุขความเจริญให้แสดงความยินดีต่อเขาแทนที่จะไปริษยาเขา
ในกรณีที่คนสัตว์ที่เราควรจะแสดงเมตตา กรุณา มุทิตา นั้นต้องประสบความพิบัติไม่อยู่ในวิสัยที่จะใช้ธรรมะอีก๓ ข้อนั้นได้ ท่านสอนให้ทำใจเป็น
อุเบกขา คืออย่าไปแสดงความยินดีหรือยินร้ายในความพิบัติอันนั้นของเขาด้วย
การทำความรู้สึกว่า
“คนเรามีกรรมเป็นของๆตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมอันใด ไว้ดีหรือชั่วก็ตามเขาจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
การทำความรู้สึกได้เช่นนี้ จะช่วยให้คนไม่ต้องไปว้าวุ่นในสิ่งที่ตนไม่อาจทำอะไรได้ทั้งเป็นการป้องกันจิตตนไว้ไม่ให้ตกไปเป็นอคติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ประการ คือ
ลำเอียงเพราะรักใคร่กันเป็นการส่วนตัว เรียก ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว เรียก โทสาคติ
ลำเอียงเพราะความกลัวเป็นเหตุ เรียก ภยาคติ
ลำเอียงเพราะความเขลา เรียก โมหาคติ
สำหรับในกรณีที่สอนให้อยู่คนเดียวนั้นใช้ในกรณีที่ต้องการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมจะใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์แก่บุคคล จนถึงทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเสลในที่สุดเท่านั้น เมื่อปรับจิตได้แล้วหรือ แม้เมื่อสละกิเสลจนจบสิ้นหน้าที่ส่วนตนแล้ว เวลาแห่งชีวิตต่อจากนั้นได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์เป็นหลักเป็นธรรมดาประการหนึ่ง คือจะเป็นใครก็ตามหากต้องการทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เขาจะต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งแห่งชีวิตเพื่อสร้างคุณสมบัติอันเหมาะสมสำหรับทำงานเพื่อสังคมในช่วงนั้น คนที่สติสัมปชัญญะมีเหตุผลมากพอจะไม่ว่าเขาเห็นแก่ตัวหรือเอาตัวรอดแน่