การกรวดน้ำ ได้บุญอย่างไร ?
โดยส่วนตัวแล้วทราบว่าการกรวดน้ำ หรือจะเรียกว่าหยาดน้ำ ตรวจน้ำก็แล้วแต่ คือการอุทิศบุญ ไม่ใช่การอุทิศน้ำหรือสิ่งของไป ซึ่งการอุทิศบุญนั้น ถ้าเราจะอุทิศให้กับผู้ที่ละโลกนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือคนเป็นที่รัก ที่เป็นศรัตรูกันเกลียดกันก็ตาม น่าจะมีองค์ประกอบดังนี้
1.มีผู้อุทิศไป ก็คือตัวเรา หรือญาติๆ ของผู้ละโลกนี้ไป
2.มีบุญที่จะอุทิศไป ฉะนั้นผู้ที่จะอุทิศเขาจึงทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดบุญขึ้น เช่น ให้ทาน มีทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นต้น
3.เมื่อเกิดบุญขึ้น จึงอุทิศบุญนั้นไป จะกรวดน้ำหรือไม่ก็ได้ แต่เจตนาของผู้ทำบุญมีเจตนานั่นเป็นเครื่องส่งไป
4.ผู้รับหรือผู้ที่เราอุทิศให้นั้น ก็คือผู้ที่ตายละโลกนี้ไปนั้น ทำการอนุโทนา ข้อนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ว่าเราอุทิศให้แล้วเขาจะได้ทันที ถ้าเขาไม่อนุโมทนาบุญไม่มีทางเกิดกับเขาได้ การที่เขาอนุโมทนา ก็คือเขาได้ทำบุญที่เรียกว่า”ปัตตานุโมทนามัย” บุญเกิดจากการอนุโมทนา ย้ำว่าบุญเกิดขึ้นจากการที่เขาทำบุญที่เรียกว่าปัตตานุโมทนามัยคือการอนุโมทนาส่วนบุญ ไม่ใช่บุญจะเกิดขึ้นมาจากการโอนลอย โอนถ่ายโดยที่เขาไม่มีการอนุโมทนา และการอนุโมทนานั้นก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง (เคยได้ยินไหม บุญใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้ เหมือนกินข้าวใครกินคนนั้นอิ่ม เรื่องนี้ก็เหมือนกัน บุญจะไม่ลอยมาหาเขาฟรี ๆ โดยที่เขาไม่ทำ เขาจะได้เมื่อทำบุญที่เรียกว่าปัตตานุโมทนา นี่คือสิ่งที่เขาทำได้และเกิดบุญ) ส่วนมากเราเข้าใจว่าเป็นการส่งบุญอย่างเดียว อันที่จริงเป็นการให้เขาทำบุญด้วยการอนุโมทนา เนื่องจากผู้ละโลกนี้ไป บางทีเขาไม่มีโอกาสได้ทำบุญด้วยการให้ทาน แต่เขามีโอกาสทำด้วยการอนุโมทนา
การอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร สมมติว่าเจ้ากรรมนายเวรที่ว่านี้คือคนที่เคยเป็นศรัตรูกันมา เกลียดชังกันตั้งแต่เคยใช้ชีวิตอยู่บนโลกด้วยกัน ครั้นเขาโลกนี้ไปแล้ว เราอุทิศบุญไปเพื่อให้เขาได้อนุโมทนา ถ้าเขาอนุโมทนา ก็แสดงว่าจิตเขาเริ่มเป็นกุศล เริ่มทำความเห็นให้ถูกต้อง นี่ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่เรียกว่าทิฏฐชุกัมม์ เมื่อเขามีความเห็นถูกต้องเขาอนุโมทนา นี่ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของเขาเหมือนกัน ถ้าเขามาถึงจุดนี้แล้ว เขาก็คงเริ่มเป็นมิตรมีจิตเป็นกุศลแล้ว คงไม่คิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายเราแล้ว
สรุป ไม่ต้องกลัวว่าเราอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร (ถ้าเจ้ากรรมนายเวรมีจริงนะ ซึ่งเจ้ากรรมนายเวรนี้ จริงๆ ต้องพูดกันยาว เอ้าสมมติว่ามีตามที่ว่ากัน)
ไม่ต้องกลัวว่าเจ้ากรรมนายเวรแข็งแรง เข้มแข็งเพราะบุญที่เราอุทิศให้แล้วจะทำร้ายเรา เพราะว่า
- เจ้ากรรมนายเวรจะไม่ได้บุญ ไม่เกิดบุญจากการที่เราอุทิศไปให้ ถ้าเขาไม่ทำการอนุโมทนา
- ถ้าเมื่อเขาโมทนาแล้ว ใจเขาเริ่มเป็นสัมมาทิฎฐิแล้ว (สัมมาทิฏฐิในที่นี้หมายถึงเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นโทษของการทำชั่ว เห็นโทษของพยาบาทเป็นต้น) มาเขามาถึงจุดนี้เพราะอนุโมทนาบุญ เขาจะไม่จะละอาฆาตพยาบาทเรา ให้อภัยเรา เป็นมิตร
- การที่เขาอาฆาตพยาบาทมาจากจิตที่เป็นอกุศลจะเรียกว่ากิเลสก็แล้วแต่ ที่ทำให้ทำกรรมคือความพยาบาท ไม่ได้เกิดจากกุศลหรือบุญ
การทำบุญนั้น (การอุทิศบุญทีเรียกว่าปัตติทานมัย การอนุโมทนาบุญเรียกว่าปัตตานุโมทนามัย ก็ส่วนหนึ่งหรือวิธีหนึ่งของการทำบุญเหมือนกัน ดูได้ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ในที่นี้เรียกรวม ๆ ทั้งหมดว่าการทำบุญ) การทำบุญไม่ใช่การยื่นคมหอกคมดาบให้ฝ่ายหนึ่งไปทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งในลักษณะของตัวตนบุคคลแต่อย่างใด แต่ถ้าให้จิตที่กุศลละจิตที่เป็นอกุศลนั้นใช่ เช่น ให้ทานเพื่อลดละความตะหนี่ แผ่เมตตาเพื่อละความพยาบาท เป็นต้น
(ทั้งหมดนี้ เป็นความเข้าใจส่วนตัว ใครมีความเห็นอย่างไร ก็ว่าไป)