
ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้
มีชาวบ้านนอกคนหนึ่ง ไปขอสาวในเมืองสาวัตถีให้ลูกชายของตน พร้อมกำหนดนัดวันแต่งงานไว้แล้ว ครั้นถึงวันแต่งานได้ไปสอบถามฤกษ์กับนักบวชอาชีวกว่าดีหรือไม่ นักบวชอาชีวกโกรธที่เขาไม่ได้มาปรึกษาก่อนในคราวแรกจึงพูดว่า ” วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ท่านอย่ากระทำการมงคลใดๆ ขืนทำลงไปจะเกิดความพินาศ ” พวกเขาพากันเชื่ออาชีวกจึงไม่ได้ไปรับตัวเจ้าสาวในวันนั้น
ฝ่ายชาวเมืองสาวัตถีได้จัดเตรียมงานมงคลไว้พร้อมเพรียงแล้ว แต่ไม่เห็นพวกเจ้าบ่าวมารับเจ้าสาวสักที จึงตกลงกันว่า ” พวกนั้น กำหนดนัดวันนี้แล้วกลับไม่เห็นมา งานของพวกเราก็ใกล้จะเสร็จแล้ว พวกเราจะยกลูกสาวให้คนอื่นไปเสีย ” จึงได้จัดงานแต่งงานด้วยมงคลที่ได้เตรียมไว้แล้วนั้น
ในวันรุ่งขึ้นพวกบ้านนอกที่ขอไว้ก็มาถึง ทันทีที่เห็นหน้ากันพวกชาวเมืองก็พากันด่าพวกบ้านนอกว่า ” พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดนัดวันไว้แล้ว กลับไม่มาตามนัด เชิญกลับไปตามทางที่มานั้นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้วละ “
พวกชาวบ้านนอกจึงทะเลาะกับชาวเมืองด้วยเหตุอันนี้ เรื่องที่อาชีวกทำลายงานมงคลของผู้คนเป็นที่ทราบกันไปทั่ว แม้กระทั่งภิกษุในวัด
ในเย็นของวันหนึ่ง พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภาถามเรื่องประโยชน์ของฤกษ์แก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา
อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกาติ
ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่
ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้
นักขัตตชาดก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ – หน้าที่ 49 ๙
คำว่า ฤกษ์ยามในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายถึงไปดูดวงดาว อย่างพวกพราหมณ์ แต่ว่า ฤกษ์ยามของพระพุทธศาสนาหมายถึงกาลอันเหมาะสม
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดในฤกษ์ยาม ภาษาธรรมเรียกว่า กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลา
เช่่นเสด็จโปรด ปัญจวัคคีย์ ก็ต้องผ่านการตรัสรู้ธรรมเสียก่อน
โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ก็ต้องไปปราบ ชฏิล 3 พี่น้องก่อน
โปรดพุทธมารดา ก็ดูกาลแห่งการเข้าพรรษา (พุทธประเพณี)
ไปโปรดพุทธบิดา ก็เช่นกัน
แม้แต่การดับขันธปรินิพพาน ก็ต้องเลือกเมือง เลือกสถานที่ และเวลาอันเหมาะสม
ดังนั้น ฤกษ์ยามในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง กาลอันสมควร ไม่ใช่สอนไม่ให้ใช้ ฤกษ์ยาม เพราะฤกษ์ยามเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน ถ้าไม่ใช่กาลอันเหมาะสม บางครั้งกระทำลงไปก็ไม่เกิดผลเหมือนชิงสุกก่อนห่าม
ที่มา :
madchima.org