ตามหาไม้งิ้วดำ ไม้ในตำนาน คือไม้ชนิดไหนกันแน่
ขึ้นหัวข้อบทความว่า ตามหาไม้งิ้วดำ ไม้ในตำนาน คือไม้ชนิดไหนกันแน่ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเข้าป่าตามหาต้นไม้งิ้วดำนะครับ ผมก็เข้าป่า google.co.th นี่แหล่ะ ถ้าเข้าป่าหาไม้งิ้วดำจริง ๆ คงไม่ได้มีโอกาสได้เจอแน่ หรือเจอก็ยังสงสัยอีกนั่นเอง ฉะนั้น เอาข้อมูลที่ท่านอื่นสรุปไว้มาสรุปอีกที หากลืมแจ้งที่มาต้องขออภัยด้วยนะครับ อนึ่ง ไม้งิ้วดำ ไม้พระยางิ้วดำ ไม้พญางิ้วดำ ไม้นางพญางิ้วดำ ที่มีคำว่างิ้วดำผมถือว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกันนะครับ
เริ่มต้นด้วยโพสต์จากพันทิปในหัวข้อ มีใครรู้จักต้น “พญางิ้วดำ” “งิ้วดำ” “นางพญางิ้วดำ” ตัวเป็นๆบ้าง? โพสต์โดยสมาชิก MahJoo ซึ่งเขาตั้งคำถามประมาณว่า “มีใครรู้จักหรือเคยเห็นต้นไม้นางพญางิ้วดำต้นเป็น ๆ ไหมครับ มันมีจริงไหม ไม่เอาเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อนะครับ ค้นหาข้อมูลอยู่นาน พอสรุปไม้ที่เรียกว่าไม้งิ้วดำได้ดังนี้ :-
ไม้งิ้วดำแบบที่ 1 น่าเชื่อถือสุดคือ เป็นแก่นไม้ตระกูลไม้มะเกลือ ที่มีเนื้อไม้แน่นและดำมากกว่าปรกติ ซึ่งอาจจะเป็นแค่บางต้นเท่านั้น ซึ่งดูจากภายนอกไม่รู้ (ที่มาบอกว่าน่าเชื่อถือที่สุด แต่สำหรับผมแอดมินพระคุ้มครอง ไม้มะเกลือ หรือ ไม้ ebony wood ต่างชนิดกันครับ เพียงแต่ถูกสวมรอยหรือยัดไส้ว่าเป็นไม้งิ้วดำเท่านั้น)
ไม้งิ้วดำแบบที่ 2 คือ เป็นงิ้วที่ถูกไฟป่าไหม้ แต่ไม่ตาย ต้นไม้จึงสร้างเรซิน หรืออะไรสักอย่างมารักษาตัวเอง เล่ากันว่าพวกไม้ที่อยู่กลางแจ้ง แล้งๆ แก่นจะเยอะและดำกว่าไม้ที่อยู่กันหนาแน่น (เป็นไปได้อย่างมากที่จะมีความแตกต่างกัน)
ไม้งิ้วดำแบบที่ 3 เป็นไม้งิ้วจริง ๆ ที่อาจจะมีความพิการของสี แต่งิ้วเป็นไม้เนื้ออ่อน? อาจจะต้องเกิดเหตุการแบบที่สองร่วมด้วยหรือปล่าว?. (ผมเสริมอีกนิด สอดคล้องกับเรื่องที่ช่างแกะไม้งิ้วดำเล่าให้ฟัง เขาได้ยินมาอีกทีเช่นกัน ไม้งิ้วดำ เกิดจากไม้งิ้วจริง ๆ ที่เกิดในป่า เกิดในป่าในเขาเนื้ออาจจะแน่นและมีแก่นสีดำหรือบางต้นดำยันเปลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสีดำทุกต้น เกิดขึ้นเฉพาะบางต้น ขึ้นอยู่สถานที่ อาหาร อากาศ หรือจะเรียกว่าความผิดปกติของไม้งิ้วก็ได้ เหมือนแก่นไม้มะขามไม่ได้มีทุกต้น บางต้นใหญ่ สมบูรณ์ แต่แก่นไม่มีสีก็มีมาก)
ไม้งิ้วดำแบบที่ 4 เป็นไม้หวงห้ามของทางภาคใต้ (ผมไม่เข้าใจเท่าไหร่ ว่าคือไม้อะไร ยังไม่ได้เห็นต้นเป็น ๆ และไม่รู้ใครหวงห้าม หวงห้ามทำไม แต่ก็ได้ไม้ชนิดนี้จากเพื่อนที่เป็นคนอีสานไปอยู่ทางภาตใต้เช่นกัน เพื่อนคนนั้นบอกว่าเป็นไม้งิ้วดำ ผมก็ยังไม่ทราบว่าทางภาคใต้เขาเรียกว่าไม้อะไร เรียกว่าไม้งิ้วดำเหมือนกันหรือไม่ เป็นไม้ชนิดกันกับที่ว่าเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่)
ไม้งิ้วดำในความคิดเห็นของผม (แอดมินเว็บไซต์พระคุ้มครอง) คือเป็นงิ้วจริง ๆ หรือไม้งิ้วป่าที่เกิดในป่า ได้ดิน อาหาร อากาศ น้ำ ที่เหมาะสมจึงทำให้มีแก่นหรือลำต้นสีดำ ด้วยความพิเศษที่มีสีดำนี้ซึ่งอาจจะเป็นด้วยธาตุอะไรบางอย่างจึงทำให้เนื้อไม้ กลิ่น รส น้ำหนัก เปลี่ยนไปจากเนื้อไม้งิ้วทั่วไป ในทางวิทยาศาสตร์อาจจะเรียกว่าต้นไม้พิการ ต้นไม้ผิดปรกติ ถูกต้องหมดครับ เหมือนเขากวางคุด เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน มันไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกตัว แต่มี
แม้ผมจะยอมรับว่าไม้งิ้วดำมีจริง แต่เป็นสิ่งที่หาได้ยาก พบเจอได้ยาก ส่วนมากที่วางขายในรูปแบบวัตถุมงคล เครื่องประดับ ขลุ่ย ตะเขียบไม้งิ้วดำ เป็นไม้งิ้วดำยัดไส้ หรือสวมรอยว่าเป็นไม้งิ้วดำ
ไม้งิ้วดำในตำนานพญาโคตรตะบอง
มีตำนานของชาวล้านช้างกล่าวว่า ในสมัยเด็กพญาโคตรตะบองมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก บิดามารดาต้องนำไปบวชเป็นสามเณรที่วัด วันหนึ่งทางวัดได้ให้ชาวบ้านออกแรงตัดไม้มาทำศาลา สามเณรศรีโคตรบองทำหน้าที่นึ่งข้าวเหนียว เมื่อข้าวจะสุกสามเณรศรีโคตรบองได้ใช้ไม้งิ้วดำคนข้าวทำให้ข้าวทั้งหมดมีสีดำจึงกลัวความผิด สามเณรศรีโคตรบองจึงกินข้าวดำทั้งหมด และเมื่อกินแล้วรู้สึกว่ามีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม จากนั้นสามเณรจึงนึ่งข้าวขึ้นมาใหม่ ตอนเย็นเณรศรีโคตรบองจึงได้ออกไปแบกต้นไม้ที่ชาวบ้านตัดมาเก็บไว้ที่วัดคนเดียวจนเสร็จ จนหลวงพ่อและชาวบ้านประหลาดใจในพละกำลังของสามเณรเป็นอย่างมาก
ในกาลต่อมา เวียงจันทน์ได้รับความเสียหายจากช้างป่าที่บุกเข้ามาทำลายข้าวของ พระยาอนุพาวันดีจึงประกาศหาคนปราบช้างโดยจะยกลูกสาวและเมืองให้เป็นรางวัล ศรีโคตรบองเมื่อสึกแล้ว จึงเข้าไปรับอาสาและปราบช้างได้สำเร็จ ได้ครองนครเวียงจันทน์และได้นางเขียวค่อมลูกสาวของพระยาอนุพาวันดีเป็นเมีย
แต่พระยาอนุพาวันกลัวว่าพระยาศรีโคตรบองจะครองเมืองทั้งหมด(กลัวเสียการควบคุม) แต่ก็ไม่รู้จะกำจัดพระยาศรีโคตรบองเพราะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ อยู่ยงคงกระพัน จึงออกอุบายถามความลับกับนางเขียวค่อมลูกสาวตน จึงได้รู้วิธีการกำจัดพระยาศรีโคตรบอง วันหนึ่งพระยาอนุพาวันดีจึงเชิญพระยาศรีโคตรเข้ามากินข้าว เมื่อพระยาศรีโคตรบองจะขับถ่าย จึงถูกหอกยนต์แทงทะลุทวารถึงปาก แต่ก่อนที่พระยาศรีโคตรจะตายได้สาปแช่งชาวเมืองเวียงจันทน์ไว้ไม่ให้เจริญรุ่งเรือง แล้วเหาะกลับไปตายที่เมืองเปงจาน ที่มา wikipedia.org
วิธีพิสูจน์ไม้งิ้ว
เมื่อไม้งิ้วดำมีที่มาตามตำนานพญาโคตรตะบอง วิธีพิสูจน์ก็ง่ายมากคือนำไม้งั้นมาคนข้าวเหนียว ถ้าข้าวเหนียวดำ ก็แสดงว่าเป็นไม้งิ้วดำตามตารา ส่วนจะกินได้หรือไม่ กินแล้วมีกำลังอย่างพญาโคตรตะบองหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่ง
บทความแนะนำ…วิธีการดูความแตกต่างระหว่างไม้งิ้วดำ ไม้ดำดง และไม้มะเกลือ