ประวัติการจัดสร้างพระพุทธชินราช อินโดจีน 2485
ในปี พ.ศ. 2485 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางด้านการเมือง ซึ่งหลังจากปัญหา ต่าง ๆ ได้คลี่คลายลง “พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย” อันเป็นผลจากการรวมตัวระหว่าง พุทธธรรมสมาคม กับ ยุวพุทธสาสนิกสมาคม จึงได้ร่วมกันหล่อองค์จำลองพระพุทธชินราชขึ้นมา และกลาย เป็นสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์พระเครื่องยุคพระเกจิก่อนปี 2500 ออกแบบและดำเนินการหล่อโดยนายช่างกรมศิลปากร
ประเภทวัตถุมงคล พระพุทธชินราชอินโดจีน 2485
1. พระบูชา จะสร้างโดยใช้วิธีหล่อเป็นพระขัดเงามีเรือนแก้ว จัดสร้างตามจำนวนที่สั่งจอง ให้บูชาองค์ละ 150 บาท
2. พระหล่อ รูปพระพุทธชินราชมีเรือนแก้ว จัดสร้างประมาณ 90,000 องค์ เป็นเนื้อโลหะผสม โดยมีทองเหลืองเป็นหลัก แต่สุดท้ายคัดเหลือ 84,000 องค์ ซึ่งให้ความหมายเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ ในตอนแรกได้หล่อ อกเลานูน ติดไว้ใต้ฐานพระ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นก้นเรียบ และใช้วิธีตอกแทนจบครบ 84,000 องค์ (ทราบว่าที่ไม่ตอกก็มี) นำออกให้เช่าบูชาองค์ละ 1 บาท องค์ไหนสวยสมบูรณ์ให้บูชาองค์ละ 1.50 บาท
3. เหรียญปั๊มพระพุทธชินราช มีรูปลักษณะคล้ายใบเสมา ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราชมีเรือนแก้ว ด้านหลังมีรูปดอกเลาบานประตูพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก จัดสร้างจำนวน 3,000 เหรียญ เนื้่อทองแดงรมดำ นำออกให้เช่าบูชาเหรียญละ 50 สตางค์ (แหนบและเข็มกลัด รวมทั้งเหรียญกะไหล่เงิน-ทอง เป็นเหรียญแจกกรรมการ)
สมเด็จพระสังฆราชแพ เสด็จเป็นประธาน
ประกอบพิธีหล่อที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2485 ซึ่งเป็นวันระหว่างงานสมโภชพระพุทธชินราชประจำปี ได้ทำพิธีลงทองตามตำหรับการสร้างพระกริ่ง-พระชัย ของวัดสุทัศน์ทุกประการ นอกจากนั้นยังมีแผ่นทองแผ่นจารจากท่านพระคณาจารย์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีพุทธาภิเษหล่อหลอมในครั้งนี้อีกด้วย
พระพุทธชินราช อินโดจีน 2485 พิธีมหาพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราม ในปี พ.ศ.2485 โดยมีท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์ประธาน และท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นเจ้าพิธี
รายได้จากการจัดสร้างพระพุทธชินราชอินโดจีน 2485
จำนวนเงินรายได้จากการให้เช่าบูชา พระพุทธชินราช อินโดจีน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อนำไปจัดการดังต่อไปนี้
1. มอบให้กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับบำรุงส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและการกุศลสาธารณะต่าง ๆ ภายในจังหวัด (น่าจะหมายถึงจังหวัดพิษณุโลก)
2. ให้คณะกรรมการจังหวัดพิษณุโลก สำหรับบำรุงส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และการกุศลสาธารณะต่าง ๆ ภายในจังหวัด
3. ให้พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นทุนในการดำเนินกิจการเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
พระพุทธชินราชอินโดจีน 2485 พิมพ์ต่าง ๆ
เว็บไซต์ web-pra.com ได้แสดงข้อมูลการจัดสร้างพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 พิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคร่าว ๆ ได้ดังนี้ (น่าจะมีกลุ่มพิมพ์ จำนวนพิมพ์มากกว่านี้ ท่านนำมาแสดงตามที่มีรูปภาพหรือตามค้นพบ)
- พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 กลุ่มสังฆาฏิยาว
- พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 กลุ่มสังฆาฏิสั้น
- พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 กลุ่มต้อบัวเล็บช้าง
- พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 กลุ่มต้อบัวขีด
สำหรับพระพุทธชินราช อินโดจีน 2485 พิมพ์ต้อ บัวขีด ยังแบ่งออกได้อีก ดังนี้
- พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์ต้อบัวขีด ทรงใหญ่ จุดสังเกตคือ ส่วนใหญ่จะมีให้เห็นพระถัน(หัวนม) มีรูที่หน้าอก มีรูที่ใต้ฐานบัวใบที่ 5
- พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์ต้อบัวขีด ทรงกลาง จุดสังเกตคือ พิมพ์ทรงย่อมกว่า พิมพ์ทรงใหญ่
- พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์ต้อบัวขีด ทรงเล็ก จุดสังเกตคือ คิ้ว และ ปาก จะมีความแตกต่างจากพิมพ์ทรงอื่น ๆ และซุ้มเรือนแก้วจะไม่เหมือนกัน
- พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์ต้อบัวขีด ทรงชะลูด จุดสังเกตคือ พิมพ์จะสูงพอๆกับพิมพ์สังฆาฏิยาวหรือสังฆาฏิสั้น
ที่มา : เว็บไซต์ web-pra.com
บทความแนะนำ
พระพุทธชินราช มากด้วยพุทธคุณ หนุนดวงให้ชัยชนะ
ไตรภาคี พระพุทธรูปที่เชื่อว่าสร้างรุ่นไหนก็มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน