นอกจากคำว่า “วัดหรงบน“ แล้วก็ยังมีคำว่า “หลวงปู่สรวง” ดูเหมือนไม่ซับซ้อน แต่มักถูกอ่านไม่ถูกต้อง
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “สรวง” ดังนี้
สรวง : [อ่านว่า สวง] น. ฟ้า สวรรค์ เทวดา. ก. เซ่น บูชา บน.
ฉะนั้น
หลวงปู่สรวง อ่านว่า หลวง-ปู่-สวง
หากจำไม่ได้ ให้นึกถึงคำว่า
“สรวงสวรรค์” (สวง-สะ-หวัน)
หรือ
“บวงสรวง” (บวง-สวง)
สรวง เป็นคำควบกล้ำไม่แท้
คำควบกล้ำไม่แท้ หรือ อักษรควบไม่แท้ คือ คำที่มีพยัญชนะต้นสองตัว แต่อ่านออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวแรก หรืออ่านออกเสียงเป็นตัว ซ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ คือ
1. พยัญชนะต้นตัวหน้าเป็น ซ ศ ส จ พยัญชนะต้นตัวหลังเป็น ร อ่านออกเสียงเฉพาะตัวหน้า เช่น
ไซร้ อ่านว่า ไซ้
ศรี อ่านว่า สี
ศรัทธา อ่านว่า สัด-ทา
เศร้า อ่านว่า เส้า
สรวง อ่านว่า สวง
สรง อ่านว่า สง
สรวม อ่านว่า สวม
สรวย อ่านว่า สวย
สรวล อ่านว่า สวน
สร้อย อ่านว่า ส้อย
สระ(น้ำ) อ่านว่า สะ
สร้าง อ่านว่า ส้าง
เสริม อ่านว่า เสิม
จริง อ่านว่า จิง
2. พยัญชนะตัวหน้าเป็น ท พยัญชนะตัวหลังเป็น ร ออกเสียง ทร เป็น ซ เช่น
ทราย อ่านว่า ซาย
ทรวง อ่านว่า ซวง
ทรง อ่านว่า ซง
ทรัพย์ อ่านว่า ซับ
ปลาอินทรี อ่านว่า ปลา – อิน – ซี