ความแตกต่างระหว่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”
ในหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เอกสารต่าง ๆ ที่ออกมาจากหน่วยงานเหล่านี้นิยมใช้คำว่า “เผยแผ่” มากกว่าคำว่า “เผยแพร่” มาดูเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายความหมายของ 2 คำ นี้ไว้ว่า
เผยแผ่ ก. ทำให้ขยายออกไป ขยายออกไป เช่น เผยแผ่พระศาสนา.
เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.
หากยังไม่เข้าใจชัดเจน ให้ดูคำอธิบายต่อไปนี้ซึ่งแสดงความต่างระหว่างคำว่า “เผยแผ่” กับคำว่า “เผยแพร่” คาดว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น
เผยแผ่ เป็นการทำให้ขยายออกไปโดยไม่ทิ้งหลักเดิม ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เช่น แผ่เสื่อ แผ่สาด ท่านผู้อ่านที่เคยแผ่เสื่อ ลองนึกภาพดู เมื่อแผ่เสื่อออกไปแล้ว เสื่อผืนนั้นก็ขยายกว้างออกไป แม้เสื่อนั้นจะยาวหรือกว้างเพียงใดก็ตาม เมื่อถูกแผ่ไปแล้วก็ยังเป็นเสื่อผื่นนั้นผืนเดิมผืนเดียวกัน
เผยแพร่ เป็นการทำให้ขยายออกไปเหมือนกัน แต่ต้องทิ้งของเดิมไป ตัดขาดจากของเดิมไป เช่น การแพร่ของเชื้อโรค เชื้อโรคที่แพร่จากสถานที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นเชื้อโรคคนละตัวกัน ไม่ใช่เชื้อโรคตัวเดียวกัน เชื่อโรคจุดหนึ่งอาจจะถูกรักษาให้หายขาดแล้ว ส่วนอีกจุดหนึ่งยังไม่ถูกรักษาให้หาย แม้จะเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกัน แต่เป็นคนละตัวกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
ดังนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรงจึงใช้คำว่า เผยแผ่ อธิบายว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาอย่างไร บุคคลผู้ที่นำไปเผยแผ่ก็นำคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นไปเผยแผ่ให้ขยายออกไป โดยไม่ทั้งหลักเดิมตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ ไม่นำความคิดหรือความเห็นของตนเองสอดแทรกเข้าไปโดยอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์
สรุปคือ หากใช้กับพระพุทธศาสนา ใช้คำว่าเผยแผ่ เช่น เผยแผ่พระพุทธศาสนา, เผยแผ่พระธรรมคำสอน
หากใช้กับเอกสารความรู้ทั่วไป เชื้อโรค ใช้คำว่า เผยแพร่ เช่น เอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวจากโรคโควิด 19, โรคโควิด 19 แพร่ขยายไปทั่วโรค
ที่มา : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา Office of the Royal Society ความต่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”