ครูอาจารย์จะย้ำกับเราเสมอว่า ก่อนสวดคาถาหรือทำพิธีกรรมใด ๆ ให้ตั้ง นะโม 3 จบ เสียก่อน ด้วยการกล่าวว่า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม แปลยกศัพท์
นะโม อันว่าความนอบน้อม (อัตถุ ขอจงมี) ภะคะวะโต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อะระหะโต ผู้ไกลจากกิเลส สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ตัสสะ พระองค์นั้น
นะโม แปลโดยอรรถ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไกลจากกิเลสผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น
นะโม ชื่อว่า บทมหานมัสการ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ชื่อว่า มหานมัสการ คือ บทนอบน้อมอันยิ่งใหญ่ หมายความว่า เป็นบทนอบน้อมที่ครอบคลุมพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ คือ พระมหากรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ
ผู้ที่เคยกล่าว นะโม ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
1. อำมาตย์การณปาลี พบในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
2. พระเจ้าปเสนทิโกศล พบในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
3. พราหมณ์อารามทัณฑะ พบในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
4. พระเจ้ามหินทะ พบในอรรถกถาธรรมบท
5. นางธนัญชานี น้าหญิงของสังคารวมาณพ พบในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
6. พระอินทร์ พบในทีฆนิกาย มหาวรรค
อย่างไรก็ตาม บทมหานมัสการนี้ไม่ใช่มีปรากฏในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น มีพบครั้งแรกในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ผุสสะ พระราชบิดาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้กล่าวบทนี้เพื่อนอบน้อมพระพุทธเจ้า ดังนั้น บทนี้จึงเป็นบทที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ มานานแล้ว
ใครเป็นผู้กล่าว นะโม
ในฎีกานะโม กล่าวว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นี้ เทวดา 5 องค์ เป็นผู้กล่าวองค์ละบท ๆ เพื่อจะนมัสการแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้
1. นะโม …สาตาคิริยักษ์ กล่าวนมัสการ
2. ตัสสะ …อสุรินทร์ราหู กล่าวนมัสการ
3. ภะคะวะโต…ท้าวจาตุมหาราช \”ทรงเปล่งเสียงพร้อมกันทั้งสี่พระองค์\” กล่าวนมัสการ
4. อะระหะโต …ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) กล่าวนมัสการ
5. สัมมาสัมพุทธัสสะ …ท้าวสหัมบดีพรหม กล่าวนมัสการ
พระอรหัตเจ้าทั้งหลายพิจารณาเห็นว่า อักษรทั้ง 5 บทนี้ แต่ละบท ๆ ล้วนเป็นคำกล่าวนมัสการทั้งสิ้น จึงได้ประมวลเข้าไว้เป็นบทเดียวกัน
ความคิดเห็นส่วนตัวผม บทนะโมนี้เป็นของเก่า ใช้กันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ และเชื่อว่าใช้กับพระพุทธเจ้าทุกประเภทและทุกประองค์ แต่เทวดาทั้ง 5 องค์นี้ก็กล่าว นะโม เช่นกัน
ทำไมต้องกล่าว นะโม 3 หน
1. เพื่อเป็นการนมัสการพระพุทธเจ้า 3 ประเภท ได้แก่
๑. นมัสการพระพุทธเจ้าประเภท ปัญญาธิกะ
๒. นมัสการพระพุทธเจ้าประเภท สัทธาธิกะ
๓. นมัสการพระพุทธเจ้าประเภท วิริยาธิกะ
2. เพื่อย้ำความหนักแน่นในเคารพและเพื่อความมั่นใจไม่กล่าวผิดพลาด
3. บท นะโม ครอบคลุมพุทธคุณทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระมหากรุณาคุณ ด้วยบทว่า ภะคะวะโต พระวิสุทธิคุณ ด้วยบทว่า อะระหะโต พระปัญญาคุณ ด้วยบทว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ
4. พระอาจารย์บางท่านกล่าวว่า นะโม จบที่ ๑ เป็นคำกล่าวนมัสการพระมหากรุณาธิคุณ จบที่ ๒ เป็นคำกล่าวนมัสการพระวิสุทธิคุณ จบที่ ๓ เป็นคำกล่าวนมัสการพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า
5. พระอาจารย์บางท่านกล่าวว่า นะโม จบที่ ๑ เป็นคำกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า จบที่ ๒ เป็นคำกล่าวนมัสการพระธรรม จบที่ ๓ เป็นคำกล่าวนมัสการพระสงฆ์ ในหนังสือพระอุโบสถศีลถกา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น. ๖๒ – ๖๓ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า “ที่ถูกต้อง คงเป็นคำนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ แต่ที่กล่าว ๓ ครั้ง ก็เพื่อย้ำด้วยความเคารพและมั่นใจ
ตั้ง นะโม หนเดียวได้หรือไม่
ได้ แต่นักปราชญ์แต่บุราณาจารย์ทั้งหลายท่านกล่าวนมัสการ ๓ ครั้ง ก็เพื่อจะกระทำการนมัสการนั้นให้มั่นคง เพื่อย้ำความหนักแน่นในเคารพและเพื่อความมั่นใจไม่กล่าวผิดพลาด
พระอาจารย์เจ้าแต่โบราณทั้งลาย ตั้ง นะโม นมัสการไว้ก่อนนั้น เพื่อปรารถนาเหตุ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ปรารถนาจะให้นักปราชญ์ทั้งหลายทราบว่า ประพฤติอย่างนี้ใกล้ต่อวงศ์แห่งพระอริยะผู้ประเสริฐ
๒. เพื่อป้องกันสรรพอันตราย
๓. เพื่อจะชำระสันดานให้หมดจด
๔. เพื่อจะให้ชีวิตอินทรีย์ของอาตมา(ตน)เป็นแก่นสาร
อานิสงส์ของการกล่าว นะโม
การกล่าว นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นพุทธานุสสติอย่างหนึ่ง
ในคัมภีร์วิสุทธมรรค พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงผลของการเจริญพุทธานุสติ (การระลึกถึงพระพุทธคุณ) ไว้ ๙ ประการ คือ
๑) ก่อให้เกิดความยำเกรงในพระพุทธเจ้า
๒) ก่อให้เกิดศรัทธา สติ ปัญญา และกุศลอย่างยิ่ง
๓) ก่อให้เกิดปิติปราโมทย์เป็นอันมาก
๔) ทำให้อดทนต่อความกลัว ความตกใจ และทุกข์ได้
๕) ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเหมือนได้อยู่กับพระพุทธเจ้า
๖) กายเป็นเหมือนเรือนเจดีย์ที่ควรบูชา
๗) จิตน้อมไปเป็นพุทธภูมิ
๘) เมื่อพบสิ่งที่ควรละเมิด จะเกิดหิริโอตตัปปะ ดั่งได้เห็นพระพุทะเจ้าอยู่เบื้องหน้า
๙) จะไปเกิดในสุคติภพ ในเมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง
บทความแนะนำอ่านประกอบ ตำนาน นะโม มาจากไหน ใครเป็นคนกล่าวก่อน ทำไมทุกวันนี้จึงต้องว่า นะโม
ที่มา :
ทำไม ? บทสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย ต้องตั้งนโม 3 จบ ทุกครั้ง เพราะอะไร ?