เรื่องที่ผมจะนำมาเล่านี้ เป็นเรื่องในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นที่ไม่มีบุตร เพราะเหตุแห่งการทำกรรมอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้รับกรรมอย่างนี้ หรือทุกคนที่ไม่มีบุตรเพราะทำกรรมอย่างนี้ กรรมแต่ละคนให้ผลที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งเราต้องรู้คือกรรมไม่ว่าดีหรือเลวจักต้องผลอย่างแน่นอนแต่จะเร็วหรือช้า เมื่อไหร่ แบบไหนเท่านั้นเอง
อีกประการ ในเรื่องที่ยกตัวอย่างกรรมที่ทำให้ไม่มีบุตรนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าไม่มีบุตรดีกว่า หรือมีบุตรแล้วเป็นทุกข์ ไม่มีสบายกว่า เราก็ไม่ต้องทุกข์ บุตรก็ไม่ต้องเป็นทายาททุกข์
ในเรื่องที่จะเล่านี้ ผู้ทำกรรมมีฐานะดี มีความพร้อม อยากมีบุตรหรือธิดา แต่ไม่สามารถที่จะมีได้ ไม่สามารถสมความปรารถนาได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโพธิราชกุมาร ต่อจากบทความก่อนที่ผมตั้งชื่อว่ารู้ไหม…สมัยพระพุทธเจ้า ก็เคยมีเครื่องบินมาแล้ว
เมื่อโพธิราชกุมารได้สร้างปราสาทชื่อว่าโกกนุทเสร็จแล้ว มีพระประสงค์จะฉลองปราสาทจึงได้กราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ พระองค์จัดเตรียมสถานที่โดยนำของหอม 4 ชนิดมาผสมกันประพรมปราสาท ปูลาดผ้าน้อยเป็นทางเดินตั้งแต่ธรณีประตู โดยอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้บุตรหรือธิดาไซร้, พระศาสดาจักทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยนี้
เมื่อพระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว พระองค์ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว รับบาตร กราบทูลว่า “ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า”
พระศาสดาไม่เสด็จเข้าไป. ท้าวเธอทรงอ้อนวอนถึง 2-4 ครั้ง พระศาสดาก็ยังไม่เสด็จเข้าไป ทรงแลดูพระอานนท์.
พระเถระทราบความที่ไม่ทรงเหยียบผ้าทั้งหลาย ด้วยสัญญาที่พระองค์ทรงแลดูนั่นเอง จึงทูลให้พระราชกุมารเก็บผ้าทั้งหลายเสีย ด้วยคำว่า “พระราชกุมาร ขอพระองค์ทรงเก็บผ้าทั้งหลายเสียเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงเหยียบแผ่นผ้า, (เพราะ) พระตถาคตทรงเล็งดูหมู่ชนผู้เกิดภายหลัง.”
ท้าวเธอทรงเก็บผ้าทั้งหลายแล้ว กราบทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายใน ถวายภัตตาหาร เมื่อพระศาสนาเสร็จภัตตกิจจึงแล้วนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถวายบังคมทูลถามถึงเหตุที่พระศาสดาไม่ทราบเหยียบผ้า ….ฯลฯ…..
พระองค์ไม่ทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยของหม่อมฉันนั้น เพราะเหตุอะไร?”
พระศาสดา. ราชกุมาร ก็พระองค์ทรงดำริอย่างไร? จึงลาดแผ่นผ้าน้อย.
ราชกุมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคิดดังนี้ว่า “ถ้าเราจักได้บุตรหรือธิดาไซร้. พระศาสดาจักทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยของเรา” แล้วจึงลาดแผ่นผ้าน้อย.
พระศาสดา. ราชกุมาร เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงไม่เหยียบ.
ราชกุมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็หม่อมฉันจักไม่ได้บุตรหรือธิดาเลยเทียวหรือ?
พระศาสดา. อย่างนั้น ราชกุมาร.
ราชกุมาร. เพราะเหตุไร? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เพราะความที่พระองค์กับพระชายา เป็นผู้ถึงความประมาทแล้วในอัตภาพก่อน.
ราชกุมาร. ในกาลไหน? พระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงบุรพกรรมของโพธิราชกุมารและพระชายา
ในอดีตกาล มนุษย์หลายร้อยคนแล่นเรือลำใหญ่ไปสู่มหาสมุทร. เรือได้อับปางในกลางสมุทร สองสามีภรรยาอาศัยแผ่นกระดานแผ่นหนึ่งแวกว่ายเข้าไปสู่เกาะน้อยเกาะหนึ่ง ส่วนคนที่เหลือทั้งหมดจมน้ำตายในมหาสมุทร
เกาะนั้นมีนกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เขาทั้งคู่ไม่มีสิ่งอื่นที่จะสามารถนำมากินได้ เมื่อถูกความหิวครอบงำแล้ว จึงนำไข่นกมาหมกไฟกิน เมื่อไข่นกเหล่านั้นหมดแล้ว ก็จับลูกนกทั้งหลายปิ้งกิน เมื่อลูกนกเหล่านั้นหมดแล้ว จึงจับนกทั้งหลายปิ้งกิน เลี้ยงชีพด้วยความประมาทในปฐมวัย มัชฌิมวัยและปัจฉิมวัย
พระศาสดา ครั้นทรงแสดงบุรพกรรมนี้ของโพธิราชกุมารนั้นแล้ว ตรัสว่า
“ราชกุมาร ก็ในกาลนั้น ถ้าพระองค์กับพระชายาจักถึงความไม่ประมาท แม้ในวัยหนึ่งไซร้, บุตรหรือธิดาพึงเกิดขึ้นแม้ในวัยหนึ่ง ก็ถ้าบรรดาท่านทั้งสองแม้คนหนึ่ง จักได้เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วไซร้. บุตรหรือธิดาจักอาศัยผู้ไม่ประมาทนั้นเกิดขึ้น,
ราชกุมาร ก็บุคคลเมื่อสำคัญตนอยู่ว่าเป็นที่รัก พึงไม่ประมาท รักษาตนแม้ในวัยทั้งสาม เมื่อไม่อาจ (รักษา) ได้อย่างนั้น พึงรักษาให้ได้แม้ในวัยหนึ่ง”
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณํ อญฺญตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต.
ถ้าบุคคลทราบตนว่า เป็นที่รัก พึงรักษาตนนั้นให้เป็นอัน
รักษาด้วยดี, บัณฑิตพึงประคับประคอง (ตน) ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง.”
ที่มา เรื่องโพธิราชกุมาร
เรื่องนี้มีภาคต้น อ่านเพิ่มเติมที่ สมัยพระพุทธเจ้า ก็เคยมีเครื่องบินมาแล้ว