คำว่า ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ เท่าที่ผมสอบถามท่านผู้รู้ คำนี้ไม่ใช่พุทธพจน์ และไม่มีในพระไตรปิฎก (ไม่ได้แย้งว่าจริงหรือไม่จริง แค่บอกว่าไม่ใช่พุทธพจน์และไม่มีในพระไตรปิฎก) ผู้รู้กล่าวว่าคำนี้มาจากนวนิยายอิงพระพุทธศาสนาเรื่องกามนิต ซึ่งประพันธ์โดย คาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก ที่ชื่อว่า Der Pilger Kamanita ได้รับการแปลไทยโดย เสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2473
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการเคยใช้หนังสือเรื่องกามนิตเป็นหนังสืออ่านของนักเรียนชั้นมัธยม โดยได้ตัดตั้งแต่บทที่ 1 – 21 อันเป็นตอนพื้นดิน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “วาสิฎฐี” ตามชื่อนางเอกของเรื่อง
เคยมีผู้พูดแย้งว่า “ถ้าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” “ถ้าเช่นนั้น “ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นก็มีรักสิ” ซึ่งผมเองก็ไม่เจนจัดเรื่องความรักด้วยสิ
ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ในคำกล่าวนี้ความรักเป็นเหตุ มีความทุกข์เป็นผล หากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น น่าจะเป็นคำว่า ความรักเกิดขึ้นที่ใด ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นที่นั่น
ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แต่ที่ใดมีทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าต้องมีรักเสมอไป เหมือนที่ใดมีไฟ ที่นั่นมีความร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ใดมีความร้อนที่นั่นต้องมีไฟเสมอไป
พุทธพจน์เกี่ยวกับความรัก ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนางวิสาขามหาอุบาสิกา
เปมโต ชายตี โสโก เปมโต ชายตี ภยํ
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.
ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก;
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก,
ภัยจักมีแต่ไหน.