วันนี้ขอนำเรื่องในคัมภีร์มาพูดเกี่ยวกับที่มาของภัตตาหาร หรืออาหารที่ชาวบ้านพึงถวายพระสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ เผื่อใครคิดที่จะทำบุญ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์แล้วจะได้รู้ว่าเราสามารถถวายภัตตาหารได้ในโอกาสไหนได้บ้าง ถวายภัตตาหารเป็นแบบไหนได้บ้าง แต่ละอย่างมีความหมายอย่างไร
ภัต ๑๕ อย่าง อันควรแก่พระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ
๑. สังฆภัต
คืออาหารที่ถวายแก่สงฆ์ทั้งปวง พระสงฆ์เมื่อรับแล้วจะทำการอปโลกนกรรมแจกจ่ายกัน
๒. อุทเทสภัต
อาหารที่ถวายสงฆ์แต่ไม่พอแจกทั่วกัน ท่านให้แจกไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่พระสังฆเถระลงมา ของหมดแค่ลำดับไหน กำหนดไว้ เมื่อของมีมาใหม่อีกจึงแจกต่อไปตั้งแต่ลำดับที่ค้างอยู่ อย่างนี้เรื่อยไปจนทั่วกัน แล้วจึงเวียนขึ้นต้นใหม่อีก
๓. นิมันตนภัต
อาหารที่ถวายในที่นิมนต์ ที่ชาวบ้านนิมนต์ไปรับไปฉันภัตตาหาร
๔. สลากภัต
อาหารที่ถวายโดยวิธีจับสลาก
๕. ปักขิกภัต
อาหารที่ถวายประจำปักษ์ หรือประจำสัปดาห์
๖. อุโปสถิกภัต
อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ
๗. ปาฏิปทิกภัต
อาหารที่ถวายในวันหนึ่งค่ำ
๘. อาคันตุกภัต
อาหารถวายแก่ภิกษุผู้จรมา
๙. คมิกภัต
อาหารถวายแก่พระภิกษุผู้เดินทาง
๑๐. คิลานภัต
อาหารที่ถวายแก่พระภิกษุอาพาธ
๑๑. คิลานุปัฏฐากภัต
อาหารที่ถวายแก่พระภิกษุผู้ดูแลพระภิกษุอาพาธ
๑๒. ธุรภัต
อาหารที่เขาถวาย ณ ที่ใกล้เรือนเคียง
๑๓. กุฏิภัต
อาหารที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฎีอันเขาสร้าง
๑๔. วารกภัต
อาหารที่เขาผลัดเปลี่ยนกันถวายโดยวาระ
๑๕. วิหารภัต
อาหารที่เขาหุงต้มขึ้นในวัด
เมื่อได้อ่านภัตทั้ง ๑๕ นี้แล้ว อาจจะมีอุบาสกทายกทายิกผู้ใจบุญทำการปวารณาในการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เช่น ปวารณาต่อสงฆ์ว่า “เมื่อมีพระภิกษุอาพาธ หรือเมื่อมีพระภิกษุอาคันตุกะผ่านมาโปรดแจ้งให้โยมทราบ โยมจะได้จัดปิ่นโตไปถวายท่าน” ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นบุญกุศลต่อผู้ถวายและตัวข้าพเจ้าเองด้วย