ผู้ที่เคยไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด หรือไปถวายสังฆทานเนื่องในโอกาสอันใดก็ตาม ย่อมทราบดีว่าท้ายสุดของพิธีการทำบุญนั้น ๆ คือการให้พรของพระสงฆ์ ซึ่งโดยปกติจะขึ้นต้นว่า ยะถา วาริวะหา ปูรา พระสงฆ์ทั้งนั้นรับพร้อมกันว่า สัพพีติโย วิวัชชันตุ….จบที่…อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ที่คือบทที่พระสงฆ์ไทยใช้ทุกงานจึงเรียกว่า สามัญญานุโมทนาคาถา ที่นี้พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลให้พรอย่างไร ซึ่งเท่าที่ทราบมาพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลไม่ได้ให้พร มีเพียงแต่การกล่าวอนุโมทนา และการกล่าวอนุโมทนานี้ก็ไม่มีในยุคแรก แต่เพิ่งมีในยุคหลังจากที่ชาวบ้านบ่น จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงอนุญาตให้ทำการอนุโมทนา
มูลเหตุแห่งการอนุโมทนา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อที่ ๔๒๐ กล่าวว่า สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่อนุโมทนาในโรงฉัน คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ไม่อนุโมทนาในโรงฉัน ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุโมทนาในโรงฉัน ฯ
การอนุโมทนาก็คือการพรรณนาอานิสงส์ของการทำบุญให้ทานนั้่นเอง เพื่อให้ทายกทายิการื่นเริงบันเทิงทาน ให้ทราบเหตุทราบผลทราบประโยชน์ที่จะพึงมีในการทำบุญให้ทาน เป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง (เทศนาธรรม) ตัวอย่างของ โภชนทานานุโมทนาคาถา (แปล) ซึ่งเป็นคาถาสำหรับอนุโมทนาการถวายภัตตาหาร (หรือจะใช้อนุโมทนาวัตถุทานอื่นก็ย่อมได้)
อายุโท พะละโท ธีโร -ผู้มีปัญญา ให้อายุ ให้กำลัง
วัณณะโท ปะฏิภาณะโท -ให้วรรณะ ให้ปฏิภาณ
สุขัสสะ ทาตา เมธาวี -ผู้มีปัญญาให้ความสุข
สุขัง โส อะธิคัจฉะติ -ย่อมได้ประสพสุข
อายุง ทัตวา พะลัง วัณณัง สุขัญจะ ปะฏิภาณะโท
-บุคคลผู้ให้อายุ พละ วรรณะ สุขะแลปฏิภาณ
ทีฆายุ ยะสะวา โหติ ยัตถะ ยัตถูปะปัชชะตีติ
-บังเกิดในที่ใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้น ๆ ดังนี้
การอนุโมทนานี้เป็นการพรรณนาอานิสงส์ของการให้ เป็นการแสดงธรรมหรือเรียกสั้น ๆ ว่าเทศน์ แต่เนื่องจากคนไทยไม่ชอบการฟังเทศน์ บางคนพูดเล่น ๆ แต่จริงว่า ของฟรีชอบหมดทุกอย่าง ยกเว้นการฉีดวัคซีนและการฟังเทศน์ ด้วยเหตุนี้ การอนุโมนาหรือการเทศน์จึงถูกเรียกใหม่ว่า “การให้พร” เพราะเมื่อบอกว่าให้พร รับพร หรือขอพรแล้วคนไทยจะชอบกัน ยิ่งพระรูปไหนให้พรเป็นที่ถูกใจก็ยิ่งชอบใจใหญ่
การอนุโมทนา หรือจะเรียกว่า การสัมโมทนียกถา การเทศนาธรรม ก็เพื่อพรรณนาอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน จะทำการอนุโมทนาในโรงฉัน (ฉันในบ้านเจ้าภาพ ปรัมพิธี ใต้ต้นไม้ ลานวัด ก็อนุโลมเข้าในโรงฉัน หรือที่ฉันภัตตาหาร) ส่วนที่เดินหรือยืนรับบิณฑบาตไม่ใช่ที่สำหรับฉันภัตตาหาร จึงไม่ใช่ที่สำหรับการกล่าวอนุโมทนา ไม่ใช่ที่สำหรับการกล่าวสัมโมทนียกถา ไม่ใช่ที่สำหรับการเทศนาธรรม อีกทั้งยังมีปรากฏในพระวินัยว่า “ภิกษุควรใส่ใจว่า เรายืนอยู่ จะไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่” เว้นไว้แต่จะนั่งให้เรียบร้อยทั้งผู้กล่าวอนุโมนาและผู้ฟังคือทายกทายิกา ทราบว่าในสมัยหลวงปู่มั่น ท่านจะให้ชาวบ้านทำเป็นที่นั่งเป็นระยะ ๆ ในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านมาใส่บาตรในจุดตามที่ได้ทำไว้ จากนั้นพระก็จะนั่งให้เรียบร้อยบนที่นั่ง (อาจจะเป็นม้านั่งหรือเก้าอี้ก็ได้) ทายกทายิกานั่งบนเสื่อหรือไม้กระดานที่เตรียมไว้ แล้วพระจึงกล่าวอนุโมทนาหรือที่เรียกกันในสมัยใหม่ว่าให้พร