
กุฏิ แปลว่า กระต๊อบ, กระท่อม, โรงนา ซึ่งหมายถึงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร เป็นศัพท์ที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา หมายความว่าถ้าเป็นที่อยู่ของนักบวชในศาสนาอื่น ไม่ควรใช้คำว่า กุฏิ
ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยของมนุษย์เรา แม้แต่พระภิกษุสามเณรเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ต้องอาศัย ในพระวินัยเองก็มีหลายข้อ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยว่าจำเป็นต้องมี เช่น ห้ามจำพรรษาใต้โคนไม้ ห้ามจำพรรษาในเต็นท์ ต้องอยู่ในกุฏิที่มีประตูปิดเบิดได้ มีกุญแจปิดไว้ได้ ห้ามนอนพักกลางวันโดยที่ไม่ปิดประตู ฉะนั้นกุฏิจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี ยิ่งทุกวันนี้ มีวัดก็ต้องมีกุฏิสำหรับพระได้อยู่อาศัย
เราควรถวายกุฏิในโอกาสใด
- เมื่อมีการสร้างวัดใหม่ แน่นอนว่ากุฏิย่อมเป็นที่ต้องการเป็นอันดับแรกสำหรับพระใช้จำพรรษา
- ในช่วงก่อนเข้าพรรษา เพราะเมื่อมีพระมาจำพรรษากุฏิอาจจะไม่พอเพียงต่อการอยู่อาศัย
- เมื่อกุฏิในวัดทรุดโทรมลง ควรที่อุบาสกอุบาสิกาจะได้ร่วมกันสร้างกุฏิใหม่ขึ้นมาถวาย
- สร้างกุฏิวิหารเป็นอนุสรณ์ให้แก่ตนเองเมื่อประสบความสำเร็จในชีวิต
- สร้างกุฏิเพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
คำถวายกุฏิ วิหาร เสนาสนะ
อิมานิ มะยัง ภันเต เสนาสะนานิ อาคะตานาคะตัสสะ จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ เสนาสะนานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเสนาสนะเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มีในทิศทั้ง ๔ ที่มาแล้วก็ดี ยังไม่มาก็ดี ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเสนาสนะเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ

คำถวายกุฏิอีกแบบ (น่าจะเหมาะสมกว่า)
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง อาวะสะถัง สะปะริวารัง จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ อาคะตานาคะตัสสะ อาวะสะถัตถายะ พุทธะสาสะเน นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง จาตุททิสสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ อาคะตานาคะตัสสะ อาวะสะถัตถายะ อาวะสะถะทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายกุฏิ พร้อมกับของบริวารนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ ผู้อยู่ในทิศทั้ง 4 ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มา ขออานิสงส์ แห่งการถวายกุฏิ เพื่อประโยชน์เป็นที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ ผู้อยู่ในทิศทั้ง 4 ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
อานิสงส์ ถวายกุฏิ วิหาร เสนาสนะ หรือสร้างวัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร
การสร้างวัด หรือส่วนประกอบของวัด เพื่อถวายพระสงฆ์ที่มาจากถิ่นฐานต่าง ๆ ให้เป็นที่พักอาศัยที่ปฎิบัติธรรม ประกอบศาสนกิจและการกุศลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน อานิสงส์ผลดีย่อมตอบสนองต่อผู้ถวาย
พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงไว้ ดังนี้
ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
ผู้ให้ที่พักอาศัย ฯลฯ ย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน เขาตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ (วนโรปสูตร)
ในวิหารทานกถา พระพุทธองค์ทรงยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า การถวายวิหาร (วัด,กุฏิ) ที่อยู่อาศัยแก่ภิกษุสงฆ์นั้น เป็นสมุฏฐานก่อให้เกิดประโยชน์สุข ทั้งผู้รับและผู้ถวาย ซึ่งทรงแสดง อานิสงส์ไว้ว่า
เป็นยอดของสังฆทาน เป็นปัจจัยให้ประสบความเกษมศานต์ จนบรรลุถึงพระนิพพาน เป็นที่สุด โดยตรัสไว้ว่า
เสนาสนะที่อยู่อาศัย ย่อมบรรเทาความหนาว ความร้อน ป้องกัน เนื้อร้าย ป้องกันงู และยุงได้ ป้องกันฝนก็ได้ แม้ลมแดดกล้าที่ปรากฏขึ้น ก็บรรเทาได้
การถวายกุฎีวิหารที่อยู่อาศัยแก่พระสงฆ์เพื่อเร้นอยู่ ของผู้ต้องการความสงบ เพื่อความสุข เพื่อฌานการเพ่ง เพื่อวิปัสสนา การเห็นแจ้งพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทาน อันเลิศ
เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างกุฎวิหาร ที่อยู่อาศัยอันรื่นรมย์ ถวายแด่พระสงฆ์ ผู้เป็นพหูสูตเถิด อนึ่งถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ แก่พระสงฆ์ ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยน้ำใจอันเลื่อมใส ในท่านผู้ปฏิบัติตรง ทั้งทางกาย และ ทางใจ ท่านย่อมแสดงธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล แก่บุคคลผู้เมื่อรู้ธรรมแล้วเป็นผู้ไม่มีกิเลส ปรินิพพานในโลกนี้ (เสนาสนขันธกะ พระวินัยปิฎก)
ในพุทธวรรคที่ ๑ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ แสดง อดีตชาติ ของพระอรหันตสาวก ชั้นผู้ใหญ่ ว่าได้บำเพ็ญทานสร้างวัด และส่วนประกอบของวัด ด้วยศรัทธาเสื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วในชาติปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็ได้รับอานิสงส์ผลบุญกุศลคล้ายคลึงกัน ว่าโดยสรุปก็คือ ไม่รู้จักทุคติได้โลกิยสมบัติอันน่าพึงพอใจ จนถึงชั้นสูงสุดและได้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ อาทิ วิโมกข์ ๘ ปฎิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อรหัตตผล สิ้นอาสวะกิเลสเป็นที่สุด
ตัวอย่างผู้ได้รับอานิสงส์แห่งวิหารทาน
พระมหากัสสปเถระ ได้ดีเพราะสร้างพุทธเจดีย์ถวายพระพุทธเจ้า
พระอุบาลีเถระ ได้ดีเพราะสร้างสังฆาราม (วัด) ถวายพระพุทธเจ้า
พระอุปสีวเถระ ได้ดีเพราะสร้างอาศรม (ที่อยู่อาศัย) ถวายพระพุทธเจ้า
พระอายาตทายกเถระ ได้ดีเพราะสร้างบรรณศาลา ถวายพระพุทธเจ้า