ปานะ เครื่องดื่ม , น้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็นยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ท่านแสดงไว้ ๘ ชนิด คือ
๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
๕. มธุกปานํ น้ำมะทราง (ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน ( ปานะ ๘ อย่าง)
วิธีการทำน้ำปานะ
วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้เว้นแต่ผลมะทรางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี
ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ
๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสดห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ
( ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าแม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)
๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล
( ถ้าภิกษุทำถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)
๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้
( แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)
นอกจากนั้น ทรงมีพุทธานุญาตเพิ่มเติมอีกว่า….
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.
ในทุกวันนี้ น้ำอะไรก็ตามที่พระสามารถฉันได้ในยามวิกาล อย่างเช่น น้ำชา น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม กาแฟ โค๊ก เป๊ปซี่ เป็นต้น อนุโลมเรียกว่าน้ำปานะทั้งนั้น (น้ำข้างตต้น บางชนิด มีคุณสมบัติเป็นยา เช่น น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ จัดเป็น ยาวกาลิกได้ คือ รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
เราควรถวายน้ำปานะในโอกาสใด
- อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาสามารถถวายน้ำปานะได้ในทุกโอกาส ทุกวัน ทุกเวลา
- ถวายน้ำปานะในวันที่พระลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ๑๕ ค่ำ
- ถวายน้ำปานะ เป็นเจ้าถวายน้ำปานะในวันทางทางวัดมีกิจกรรม เช่น กฐิน ผ้าป่า ผูกพัทธสีมา งานทำบุญคล้ายวันเกิด งานครบรอบวัน งานปริวาสกรรม เป็นต้น
- ถวายน้ำปานะในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น
- เป็นเจ้าภาพถวายน้ำปานะในช่วงเข้าพรรษาตลอดทั้งพรรษา
คำถวายน้ำปานะ
อิมานิ มะยัง ภันเต, ปานานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปานานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานายะ จะฯ
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, น้ำปานะ, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับ, น้ำปานะ, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, เพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ.
อานิสงส์ของการถวายน้ำปานะ
๑. เป็นผู้มีอายุยืน
๒. เป็นผู้มีกำลัง
๓. เป็นนักปราชญ์
๔. เป็นผู้มีวรรณะสวยงาม
๕. เป็นผู้มียศ
๖. เป็นผู้มีสุข
๗. เป็นผู้ได้ข้าว
๘. เป็นผู้ได้น้ำ
๙. เป็นคนกล้า
๑๐. เป็นผู้มีปัญญา