ไม้เจีย คือไม้สีฟัน หรือไม้สำหรับชำระฟัน ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่อาจจะมีวิธีการวัตถุดิบและวิธีการทำแตกต่างกันบ้างตามวัสดุที่ได้มา สำหรับพระสายกรรมฐานในประเทศไทยนิยมนำไม้โกทามาทำเป็นไม้ชำระฟัน โดยการเลือกไม้โกทาที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปนำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 4-6 นิ้ว แต่ไม่เกิน 8 นิ้ว จากนั้นนำมาทุบอีกด้านหนึ่งของไม้ แล้วผ่าแยกออกมาเป็นส่วน ๆ ใช้เข็มสอยด้านที่ทุบ ใช้มีดเหลาให้เป็นให้กลม อีกด้านให้แหลมพอประมาณ
เมื่อจะใช้ชำระฟัน ใช้ด้านที่เป็นฝอยชำระฟันให้สะอาด ส่วนกลางของไม้เจียใช้ขูดลิ้นได้ ส่วนปลายใช้แบบไม้จิ้มฟัน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รอบรู้ละเอียดอ่อนแม้ในเรื่องสุขอนามัยของพระภิกษุสงฆ์จึงได้ทรงวางระเบียบวินัยไว้ และกล่าวโทษของการไม่ใช้ไม้ชำระฟัน ดังนี้
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ปากมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้
โทษ ๕ ประการคือ
๑. ตาฝ้าฟาง
๒. ปากมีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ไม่ดี
๔. น้ำดีและเสมหะหุ้มห่ออาหาร
๕. เบื่ออาหาร
ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้แล
แต่นั้น พระศาสดาได้ทรงแสดงประโยชน์ของการใช้ไม้ชำระฟัน ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการ คือ
๑. ตาสว่าง
๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ดี
๔. น้ำดีและเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร
๕. เจริญอาหาร
ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตไม้ชำระฟัน
แม้ว่าไม้เจียเป็นไม้ชำระฟันที่พระภิกษุนิยมทำไว้ใช้เอง หรือทำไว้ถวายพระเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ หรือใช้ประกอบเป็นเครื่องขอขมาต่อพระเถระผู้ใหญ่ในเทศกาลเข้าพรรษา แต่อุบาสกอุบาสิกาก็สามารถทำไม้เจียถวายพระหรือซื้อไม้เจียถวายพระภิกษุสงฆ์ได้เช่นกัน นับว่าเป็นอีกหนึ่งบริขารที่ควรนำไปถวายพระเป็นอย่างยิ่ง
หมายเหตุ :
จากหัวข้อที่ว่า มาดูวิธีทำไม้เจีย (ไม้ชำระฟัน) ที่ใช้กันมากว่า 2,600 ปี นับแต่ปีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ไม้ชำระฟันในสมัยพุทธกาลอาจจะมีวิธีการทำที่แตกต่างจากนี้ อาจจะเป็นแค่ไม้เนื้ออ่อนที่นำมาตัดเป็นท่อนยาวไม่เกิน 8 นิ้ว (มีบัญญัติชัดเจนห้ามเกิน 8 นิ้ว) เมื่อต้องการชำระฟันจึงนำมาเคี้ยว มีข้อห้ามและข้ออนุญาตหลายข้อเกี่ยวกับไม้ชำระฟัน เช่น ห้ามใช้ไม้ชำระฟันยาวเกิน 8 นิ้ว, ห้ามเคี้ยวไม้ชำระฟันขณะอยู่ในห้องน้ำ (แสดงว่าใช้เคี้ยว), ไม้ชำระฟันไม่ต้องประเคนก็เคี้ยวได้
การเคี้ยวไม้ชำระฟันในสมัยพุทธกาลอาจจะเป็นต้นแบบของการเคี้ยวหมากในทุกวันนี้ก็ได้