กรุณาอ่านให้จบและทำความเข้าใจให้ดี อย่าตัดสินแค่ได้อ่านหัวข้อบทความ…
เรื่องมีอยู่ว่า มีโยมท่านหนึ่งได้เข้าไปในวัดป่าแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร โยมได้กราบนิมนต์ท่านด้วยคำว่า “ขอนิมนต์หลวงพ่อพร้อมด้วยพระภิกษุรวม 9 รูป เพื่อเจริญพระพุทธมนต์และฉันข้าวที่บ้าน……วันที่…..ซึ่งทางเจ้าภาพจะนำรถมารับในเวลา…..” หลวงพ่อท่านก็รับนิมนต์โดยดี
เมื่อถึงเวลาเจ้าภาพก็นำรถมารับท่านและคณะพระสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์ไว้ หลังจากเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว เจ้าภาพจึงได้ถวายภัตตาหาร ขณะที่ประเคนเจ้าภาพสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อตักแต่ข้าวใส่บาตรและฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ เจ้าภาพจึงกราบเรียนถามว่า “พวกโยมตระเตรียมอาหารไว้ถวายหลากหลาย อาหารไม่ถูกปากหลวงพ่อหรือไร ทำไมหลวงพ่อไม่ตักฉันบ้าง ?” หลวงพ่อจึงตอบว่า “ก็โยมนิมนต์มาฉันข้าวนิ ไม่ได้นิมนต์มาฉันอาหารอย่างอื่น” เจ้าภาพ……????
จากเรื่องนี้ มีการเล่าการปากต่อปากว่า พระท่านเอาใจยาก เอาแต่ใจตนเอง เลี้ยงยากบ้าง (อันที่จริงเลี้ยงง่ายมาก ๆ เลย ข้าวเปล่าก็ฉันได้ แต่คนจะหาเรื่องว่าเพราะเหตุแห่งความไม่ชอบใจ)
หากเราเปิดดูในพระวินัยอันมาในพระปาฏิโมกข์ อยู่ในสิกขาบทที่ 2 แห่งโภชนะวรรคที่ 4 ปาจิตตีย์ จะมีข้อความว่า “ถ้าทายกเขามานิมนต์ ออกชื่อโภชนะทั้ง ๕ อย่าง คือข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปรับของนั้นมา หรือฉันของนั้นพร้อมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือ เป็นไข้อย่าง ๑ หน้าจีวรกาลอย่าง ๑ เวลาทำจีวรอย่าง ๑ เดินทางไกลอย่าง ๑ ไปทางเรืออย่าง ๑ อยู่มากด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉันอย่าง ๑ โภชนะเป็นของสมณะอย่าง ๑.”
จึงมีคำอธิบายเรื่องนี้ง่าย ๆ ว่า “อุบาสกอุบาสิกา ถ้าจะนิมนต์พระให้ฉันอาหารอย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหารหรือคำพูดที่สมควร เช่น พูดว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือว่า “ขอนิมนต์ฉันเพล” หมายความว่า เมื่อนิมนต์พระอย่าระบุชื่ออาหารที่เป็นชื่อเฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากนิมนต์ฉันในเวลาเช้า ก็แจ้งว่านิมนต์ฉันเช้า หากนิมนต์ฉันในเวลาเพลก็ใช้คำว่านิมนต์ฉันเพล ส่วนคำกลาง ๆ อนุโลมได้เช่น “นิมนต์ฉันภัตตาหารเช้า” “นิมนต์ฉันภัตตาหารเพล” คำว่า ภัตตาหาร เป็นคำกลาง ๆ เป็นได้ทั้งหมดไม่ได้เจาะจงอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ส่วนมากพระท่านก็เมตตาอนุโลมตามความไม่รู้ของโยม คือนิมนต์อย่างไรก็ได้หมด เพียงแต่ผู้ประสงค์ทำบุญมีจิตเป็นกุศลในการถวายภัตตาหาร