พระเนื้อชิน เป็นพระเนื้อโลหะอีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากการนำแร่หลัก 2 ชนิดมาผสมผสานกัน คือ แร่ดีบุก กับแร่ตะกั่ว เกิดเป็นโลหะเจือขึ้นเรียกกันว่า “เนื้อชิน” พระเนื้อชินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- พระเนื้อชินเงิน เป็นพระที่มีส่วนผสมของดีบุกมากกว่าตะกั่ว จะมีสีเงินยวงจับองค์พระอย่างสวยงาม ซึ่งพระเนื้อชินเงินนี้จะปรากฏลักษณะตามธรรมชาติในรูปของเกล็ดกระดี่ และสนิมตีนกา ตามองค์พระ พระเนื้อชินเงิน เป็นต้นว่า พระหูยาน ลพบุรี, พระนาคปรก กรุวัดปืน ลพบุรี
- พระเนื้อชินสนิมแดง เป็นพระที่มีส่วนผสมของตะกั่วมาก พระที่พบจะมีลักษณะคล้ายกับพระชินเงิน แต่มีสนิมไขแซมตามซอกพระ เป็นต้นว่า พระมเหศวร, พระสุพรรณหลังผาน, พระลีลากำแพงขาว
- พระเนื้อสนิมแดงตะกั่ว พระเครื่องประเภทนี้ก็จัดเข้าในพระเนื้อชิน แต่เป็นพระที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากที่สุดถึง 90% เมื่ออยู่ในกรุนานเข้าจึงมีสีแดงของสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็นสีแดง เรียกกันว่า “แดงลูกหว้า” เป็นต้นว่า พระร่วงหลังลายผ้า, พระร่วงหลังรางปืน, พระท่ากระดาน และพระร่วงพิมพ์ต่าง ๆ
กรรมวิธีของการสร้างพระเนื้อชิน
กรรมวิธีของการสร้างพระเนื้อชิน คือการหลอมเหลวรวมแร่ดีบุกและตะกั่วเข้าด้วยกัน ข้อสำคัญของการสร้างพระเนื้อชินคือการแกะแม่พิมพ์ของพระให้งดงาม พระเนื้อชินที่พบส่วนมากจะเป็นพระศิลปะของสกุลช่างหลวง ถึงแม้ว่า พระเนื้อชินถือว่าเป็นการสร้างพระที่ไม่ยุ่งยากนัก แต่ในสมัยโบราณก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเตรียมพร้อมอยู่ไม่น้อยและต้องอาศัยแรงคนในการช่วยจัดทำ ส่วนมากแล้วผู้ที่มีสามารถสร้างพระเนื้อชินเป็นผู้มีตำแหน่งอยู่ในวัง หรือในระดับผู้นำ เป็นผู้ที่สามารถสั่งการต่าง ๆ ได้ พระที่ได้จากการสร้างด้วยเนื้อชินจึงถือว่าสูงทั้งเนื้อโลหะและที่สั่งการให้สร้าง
ที่มา : https://sites.google.com/site/5820210478psu/prapheth-neux-chin
พุทธคุณของพระเนื้อชิน
พุทธคุณของพระเนื้อชินโดยมากเด่นทางด้านส่งเสริมในความแกล้วกล้า ความกล้าหาญ จึงเป็นพระที่เหมาะกับนักรบนักเลงในสมัยก่อน เมื่อนักรบนักเลงใช้บูชาติดตัว ประสบการณ์จึงออกในด้านคงกระพัน มหาอุด แคล้วคลาดปลอดภัย แต่อย่างใดก็ตามคุณลักษณะของเนื้อชินมีความหนึกนุ่มและความเย็นอยู่ จึงส่งพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย