ภาคกลางเป็นภาคศูนย์กลางของไทย เนื่องจากที่ภาคกลางเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงไทยอย่างกรุงเทพมหานครนั่นเอง ซึ่งภาคกลางเป็นภาคที่มีศิลปะและวัฒนธรรมที่สวยงามไม่แพ้ภาคอื่นของไทย โดยเฉพาะความสวยงามของการแต่งกายและมารยาทแบบชาววัง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของพระราชวงศ์นั่นเอง ซึ่งการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปีก็มีความโดดเด่นและสวยงามมาก
ประวัติความเป็นมาของวันปีใหม่สากล
วันปีใหม่ของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ตามความเหมาะสมและความเห็นควรของรัฐบาลในช่วงนั้น โดยในช่วงแรกวันปีใหม่ของไทยจะยึดถือตามหลักจันทรคติ ซึ่งนับวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้ายหรือเดือน 1 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งตรงปี พ.ศ.2432 ได้ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงวันปีใหม่ไทยให้ตรงกับวันที่ 1 เมษายนหรือตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามหลักจันทรคติแทน ทว่าวันปีใหม่นี้ได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนและข้าราชการอยู่ไม่น้อย
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 ธันวาคม 2483 ได้มีการประกาศให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย การประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ของไทยก็เพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สากล ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวันที่ 1 มกราคมของทุกปีจึงถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมวันปีใหม่ไทยของภาคกลาง
กิจกรรมวันปีใหม่ไทยของภาคกลางถือเป็นงานทียิ่งใหญ่ที่สุดในทุกภาคของไทย เนื่องจากที่ภาคกลางเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของไทย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือ กิจกรรมส่งท้ายปีเก่าและกิจกรรมด้านรับปีใหม่ ซึ่งมีกิจกรรมดังนี้
1.กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า
วันส่งท้ายปีเก่า คือ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งการจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าตามสถานที่ท่องเที่ยว ห้างร้านหรือห้างสรรพสินค้าจะมีการจัดกิจกรรมล่วงหน้าหลายวัน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางไปท่องเที่ยวชมบรรยากาศและซื้อสินค้าที่ลดราคาต้อนรับปีใหม่ แต่กิจกรรมที่สำคัญสำหรับการส่งท้ายปีเก่าจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เช้าของวันที่ 31 ธันวาคม ดังนี้
1.1 การทำบุญส่งท้ายปีเก่าช่วงเช้า
เช้าวันที่ 31 ธันวาคมซึ่งนับเป็นวันหยุดตามประเพณีของคนไทย ผู้คนจะเตรียมสำรับอาหารคาวหวานเดินทางไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านหรือวัดที่คนเองนับถือ ทำบุญตักบาตรและฟังธรรมเทศนา หลังจากที่ทำบุญตอนเช้าเสร็จแล้ว จะเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่าง ๆ ทำบุญ ปิดทอง ถวายสังฆทานและประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว
1.2 กิจกรรมนับถอยหลัง (Countdown)
กิจกรรมช่วงกลางคืนนับว่าเป็นสีสันของการส่งท้ายปีเก่าที่ได้รับความสนใจและมีประชาชนเดินทางมาร่วมงานจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศเป็นจำนวนมาก กิจกรรมที่จัดขึ้นมีทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน โดยภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
คอนเสิร์ต
การจัดคอนเสิร์ตเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทุกที่ โดยเวทีคอนเสิร์ตมีทั้งที่เป็นแบบกลางแจ้งและในร่ม สำหรับกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าในวันที่ 31 ธันวาคม นิยมเป็นเวทีกลางแจ้ง เพื่อที่จะสามารถแสดงแสงสีเสียงได้อย่างเต็มที่ โดยคอนเสิร์ตจะมีศิลปิน ดารา นักร้องที่มีชื่อเสียงขึ้นแสดงความบันเทิงกับผู้ที่มาร่วมงาน หมุนเวียนกันตลอดทั้งคืน
การเคาว์ดาวน์ นับถอยหลัง
การนับถอยหลังย่างเข้าสู่ปีใหม่หรือที่เรียกว่า “เคาว์ดาวน์ (Countdown)” เป็นสิ่งที่สร้างสีสันและความตื่นเต้นให้กับผู้ที่มาร่วมงานทุกคน โดยการนับจะเริ่มนับถอยหลังจาก 10 ไปเรื่อย ๆ จนถึง 0 ที่เวลาเที่ยงคืนพอดี เป็นการนับเพื่อส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งภายในงานผู้คนจะร่วมนับเสียงดังไปทั่วสถานที่จัดงาน
การสวดมนต์ข้ามปี
สำหรับผู้ที่ไม่ชื่นชอบการไปเพื่อไปร่วมงานเฉลิมฉลองตามสถานที่ต่าง ๆ ก็สามารถร่วมส่งท้ายปีเก่าด้วยการสวดมนต์ข้ามปีได้ โดยทางหน่วยงานราชการและวัดในทุกจังหวัดได้ทำการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการมาร่วมสวดมนต์ข้ามปีอย่างพร้อมพรั่ง เพื่อความสะดวกสบายของผู้ที่มาร่วมงานทุกคน รวมถึงมีการแจกหนังสือบทสวดมนต์ให้กับทุกคนสำหรับทำการใช้สวดมนต์ ระยะเวลาการสวดมนต์จะขึ้นอยู่กับแต่ละวัดเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะทำการสวดมนต์ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคมจนถึงประมาณ 01.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม
2.กิจกรรมต้อนรับปีใหม่
กิจกรรมต้อนรับปีใหม่เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องจากกิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ซึ่งบางกิจกรรมจะจัดต่อเนื่องทันทีและบางกิจกรรมจะจัดขึ้นในเช้าของวันที่ 1 มกราคม เพื่อเป็นการต้นรับปีใหม่อย่างเป็นทางการ โดยกิจกรรมต้อนรับปีใหม่คือ
2.1 แสดงแสงสีเสียงต้อนรับปีใหม่
หลังจากทีจบการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ เมื่อถึงเวลา 00.00 น ของวันที่ 1 มกราคม จะมีการฉลองต้อนรับปีใหม่ ด้วยการแสดงแสงสีเสียงและบางแห่งอาจมีการจุดพลุเพื่อเป็นการฉลองต้อนรับปีใหม่ด้วย ซึ่งแต่ละที่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้จัดงาน แน่นอนว่าความสวยงามของแต่ละที่ย่อมไม่แพ้กัน สามารถสร้างความตราตรึงใจให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้เป็นอย่างดี และเมื่อทำการฉลองต้อนรับปีใหม่แล้ว ถือเป็นการเสร็จสิ้นกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในคืนดังกล่าว
2.2 การทำบุญต้อนรับปีใหม่
สำหรับเช้าวันที่ 1 มกราคมถือเป็นวันปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีงามให้แก่ชีวิต คนไทยส่วนมากจะเข้าวัดตักบาตรทำบุญ ฟังธรรมเทศนาเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากการไปทำบุญที่วัดแล้ว ทางหน่วยงานราชการยังมีการจัดตักบาตรพระสงฆ์ในพื้นที่ราชการ เพื่อให้ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ด้วย
2.3 ไหว้สวัสดีผู้ใหญ่ที่เคารพ
เมื่อทำบุญต้อนรับปีใหม่เป็นสิริมงคลแล้ว ครอบครัวและลูกหลานจะทำการไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ภายในบ้านพร้อมทั้งมอบของขวัญปีใหม่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อขอพรวันปีใหม่ และเดินทางไปสวัสดีปีใหม่ผู้ใหญ่ที่เคารพตามธรรมเนียมไทย เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ตามแบบความเป็นไทย
2.4 การกินฉลองปีใหม่
สำหรับบ้านที่ลูกหลานเดินทางกลับมาในช่วงวันหยุดปีใหม่จะมีการจัดเลี้ยงอาหารรับประทานร่วมกัน เป็นการสังสรรค์สร้างความสุขความสำราญ โดยจะคัดเลือกอาหารโปรดปรานของสมาชิกภายในบ้านมาทำกินกันและมีการจับฉลากของขวัญสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย
จะเห็นว่าประเพณีวันปีใหม่ของภาคกลางเป็นการจัดงานที่ผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและสากลไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ไม่หลงลืมความเป็นไทยและใสวัฒนธรรมความเป็นสากลให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมอย่างสมบูรณ์ นับเป็นประเพณีปีใหม่ที่สร้างความสุข ความเป็นสิริมงคลให้กับคนไทยทุกคนในวันขึ้นปีใหม่