ประเพณีปีใหม่ของชนเผ่าลีซอ ประเทศไทย
หากใครเคยไปเที่ยวทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และในพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆ ของภาคเหนือ คงพอจะได้สัมผัสและรู้จักชนเผ่าลีซออยู่บ้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับชนเผ่ามูเซอ ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรม จึงมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะการฉลองในเทศกาลปีใหม่ หรือ ชนเผ่าลีซอ เรียกว่าเทศกาลกินวอ ชนเผ่าลีซอมีการเฉลิมฉลองปีใหม่น่าสนใจอย่างไร ตามไปดูด้วยกันเลยค่ะ
การฉลองเทศกาลปีใหม่หรือประเพณีกินวอของชนเผ่าลีซอ
ชนเผ่าลีซอ เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเป็นชนเผ่าที่จัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ธิเบต-พม่า แรกเริ่มอาศัยอยู่บริเวณหุบเขาสาละวิน มณฑลยูนนานของประเทศจีน เดิมทีเดียวเป็นชนเผ่าที่มีดินแดนของตนเอง แต่เมื่อเสียดินแดนให้กับประเทศจีนแล้ว จึงทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในรัฐฉาน เมืองเชียงตุง และสิบสองปันนา กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2464 อพยพมาสู่พม่า จีน อินเดียและประเทศไทย ซึ่งมีประเพณีและวัฒนธรรมหลากหลายอย่าง แต่ประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ประเพณีกินวอหรือเทศกาลปีใหม่ โดยประเพณีนี้มีความน่าสนใจ ดังนี้
ความเชื่อเรื่องการเซ่นไหว้ผีในวันปีใหม่
ประเพณีกินวอหรือวันปีใหม่ของชนเผ่าลีซอ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางความเชื่อประจำชนเผ่า และจะละเลยไม่ได้ เนื่องจากประเพณีกินวอนี้ ถือเป็นวันที่มีการเซ่นไหว้ผีต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีที่คอยปกปักรักษาเผ่าลีซอให้อยู่อย่างสงบสุข ได้แก่ การเซ่นไหว้ผีหลวงประจำดอย ผีเมืองประจำหมู่บ้าน รวมทั้งผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่ชาวเผ่าลีซอให้ความเคารพนับถือ โดยชาวเผ่าลีซอมีการสร้างศาล และมีการกองหางว่าวเล็กๆ ไว้รอบๆ เพื่อบูชาผีหลวงประจำดอย และผีประจำหมู่บ้านไปพร้อมกัน
กำหนดการจัดงานวันปีใหม่ของเผ่าลีซอ
เผ่าลีซอมีความเชื่อสอดคล้องกับชาวจีน เนื่องจากอพยพและสืบเชื้อสายดั้งเดิมมาจากชาวจีน จึงถือเอาวันเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน เป็นช่วงที่เหมาะสมในการจัดเทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลกินวอ ซึ่งวันแรกของเทศกาลกินวอนี้ ชาวเผ่าลีซอจะมีการเซ่นไว้ผีหลวงประจำดอย ผีประจำเมือง และวิญญาณของบรรพบุรุษก่อน โดยจะมีการเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้สำหรับการทำพิธีเซ่นไหว้ผี ได้แก่ ดอกไม้ธูปเทียน ธงหางว่าว เหล้า อาหารคาวหวาน และนำไปเซ่นไหว้ที่ศาลบนภูเขาใกล้กับหมู่บ้าน และตอนบ่ายจะมีการจัดพิธีเต้นรำประจำเผ่า ส่วนวันถัดไปจะมีการสังสรรค์ปีใหม่ที่บ้านของผู้ใหญ่ หรือบ้านของเครือญาติ ที่ชาวเผ่าลีซอให้ความเคารพนับถือ และบ้านผู้ใหญ่บ้านตามลำดับอย่างนี้ทุกปี
การเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับงานวันปีใหม่
ชาวเผ่าลีซอจะให้ความสำคัญต่อการเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับใส่ในวันปีใหม่มาก เพราะเชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นสิ่งดีให้เกิดขึ้นในวันปีใหม่ จึงต้องมีการเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ทันก่อนวันงานขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงชนเผ่าลีซอจะมีความพิถีพิถันในการตระเตรียมชุดและเสื้อผ้าใหม่ สำหรับใส่ฉลองเทศกาลปีใหม่มาเป็นปี และใส่เสื้อผ้าชุดนั้นไปตลอดทั้งปีด้วย และก่อนถึงปีใหม่ของปีถัดไป จะมีการเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้แบบนี้ทุกปี
การเต้นวาเคียะในประเพณีกินวอของเผ่าลีซอ
การเต้นวาเคียะ คือ การเต้นไม้เกี๊ยะหรือไม้สนในประเพณีกินวอ สำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าลีซอ ปรากฏให้เห็นได้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมีชนเผ่าลีซออาศัยอยู่ โดยเสน่ห์ของการเต้นวาเคียะ จะอยู่ที่ความสวยงามของเสื้อผ้าประจำเผ่าลีซอที่มีการเตรียมอย่างประณีตมาตลอดทั้งปี และหนุ่มสาวในชนเผ่าจะใส่เสื้อผ้านั้นมาร่วมกันเต้นวาเคียะ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวพบปะกัน และสามารถแตะเนื้อต้องตัวกันได้ในระหว่างการเต้นวาเคียะ เนื่องจากตลอดทั้งปีไม่สามารถทำได้ด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามของหนุ่มสาวบวกกับเสน่ห์ของซึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำของชนเผ่าลีซอ และเสียงกระทบกันของเครื่องเงิน รวมทั้งเครื่องประดับเป็นจังหวะ จึงทำให้การเต้นวาเคียะมีความลงตัว และเป็นการแสดงที่น่าชมมาก
เต้นวาเคียะเพื่ออวยพรปีใหม่และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
การเต้นวาเคียะนอกจากจะสร้างความรักความสามัคคี และความสนุกสนานให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการฉลองปีใหม่ และการอวยพรต้อนรับปีใหม่ให้กับคนในเผ่าลีซอแล้ว การเต้นวาเคียะนี้ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและผีเจ้าป่าด้วย โดยจะมีการนำไม้เกี๊ยะหรือไม้สนมาใช้ในการเต้น และมีของเซ่นไหว้ผีอยู่ตรงกลางวง และระหว่างการเต้นวาเคียะอยู่นั้น จะมีการจุดประทัดเสียงดังติดต่อกันตลอดเวลา เพื่อบ่งบอกว่าเริ่มต้นปีใหม่และศักราชใหม่แล้ว
ความน่าสนใจของการเต้นวาเคียะในวันปีใหม่เผ่าลีซอ
การเต้นวาเคียะ เป็นการเต้นเต้นตามจังหวะของเสียงซึง โดยมีจังหวะทำนองช้าๆ และรวดเร็วสลับกันไป ซึ่งผู้เต้นจะต้องมีการก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ข้างหลังหนึ่งก้าวสลับกันไป โดยจะมีการจัดงานปีใหม่ เพื่อกินเลี้ยง มีงานรื่นเริง และมีการเต้นวาเคียะแบบนี้ไปตลอดเจ็ดวันเจ็ดคืน เทศกาลวันปีใหม่ของชนเผ่าลีซอ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีชื่อเสียงในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีหลากหลายอย่าง ควรค่าอย่างยิ่งแก่การดำรงรักษา อนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชนเผ่าลีซอและประเทศไทย รวมทั้งการฉลองเทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลกินวอของชนเผ่าลีซอ เป็นหนึ่งประเพณีอันดีงามที่รอการไปเยือนและสัมผัสของทุกคนอยู่