ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคเหนือ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและงดงามตามรูปแบบวิถีชีวิตของชาวเหนือ เช่นเดียวกับประเพณีปีใหม่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเหนือหรือชาวล้านนาที่ให้ความสำคัญในการรักษาประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าวันปีใหม่ของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมก็ตาม
รูปแบบของวันปีใหม่ภาคเหนือ
ชาวเหนือหรือชาวล้านนาที่หลายคนรู้จักกันในฐานะคนเมืองหรือคนเมืองเหนือนั่นเอง คนเมืองส่วนมากจะสื่อสารกันด้วยภาษาพื้นเมืองภาคเหนือจะเรียกวันปีใหม่ว่า “วันปี๋ใหม่” ซึ่งวันปี๋ใหม่ของชาวเหนือจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ วันปี๋ใหม่ไทยและวันปี๋ใหม่เมือง สำหรับคนทั่วไปมักคิดว่าวันปี๋ใหม่เมืองและวันปี๋ใหม่ไทยเป็นวันเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว วันปี๋ใหม่ทั้ง 2 วันนี้เป็นคนละช่วงเวลาที่ต่างกันโดยชิ้นเชิง โดยลักษณะของวันปี๋ใหม่ทั้งสองต่างกันดังนี้
1.วันปี๋ใหม่ไทย
วันปี๋ใหม่ไทยของชาวล้านนา คือ วันปีใหม่ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมชองทุกปี ซึ่งเป็นวันปีใหม่ตามที่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นวันปีใหม่ตามหลักสากล ถึงแม้วันปี๋ใหม่ไทยจะเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นใหม่สำหรับชาวเหนือ แต่ชาวเหนือรุ่นทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าทุกคนก็ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ยิ่งใหม่เท่ากับวันปี๋ใหม่เมือง แต่ก็เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัวและชุมชนเช่นกัน
2.วันปี๋ใหม่เมือง
วันปี๋ใหม่เมืองตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีหรือตรงกับวันสงกรานต์ของไทยนั่นเอง วันปี๋ใหม่เมืองเป็นวันปี๋ใหม่ที่สำคัญของคนเมืองเหนือ เพราะมีขนบธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งขนบธรรมเนียมของวันปี๋ใหม่เมืองมีกิจกรรมที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยแต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้นได้สร้างความรักและสามัคคีในครอบครัวและในชุมชน ปัจจุบันนี้ประเพณีวันปี๋ใหม่เมืองเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งให้ของชาวเหนือ มีผู้ไปร่วมงานทั้งที่เป็นชาวเหนือและผู้ที่ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม
กิจกรรมที่วันปี๋ใหม่ไทย
กิจกรรมวันปี๋ใหม่ไทยของชาวเหนือจะมีกิจกรรมคล้ายคลึงกับกิจกรรมที่ภาคอื่น แต่จะมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าภาคอื่นเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและความงดงามของพื้นที่ภาคเหนือที่จะเต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ที่แข่งกันบานสะพรั่งตอนรับนักท่องเที่ยวและคนพื้นที่ที่กลับบ้านเพื่อมาฉลองงานปี๋ใหม่ไทยที่ภาคเหนือ เนื่องจากในช่วงวันที่ 1 มกราคมของทุกปีจะตรงกับช่วงฤดูหนาว ซึ่งที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ดอกไม้เมืองเหนือสามารเบ่งบานได้อย่างสวยงาม ทำให้ในช่วงปี๋ใหม่ไทยเหมาะกับการท่องเที่ยวภาคเหนือมากที่สุด นอกจากการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้ว กิจกรรมที่ชาวเหนือจัดขึ้นในวันปี๋ใหม่ไทยร่วมกันมีดังนี้
1.การสวดมนต์ข้ามปี
ก่อนที่จะเริ่มต้นวันปี๋ใหม่ไทยในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ชาวเหนือได้ร่วมทำกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นมาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ว่ากลับได้รับความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทุกคนเป็นอย่างดี โดยชาวเหนือจะเข้ามาร่วมทำการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยการสวดมนต์ข้ามปีชาวเหนือจะเข้าไปร่วมสวดมนต์ในวัดที่ตนเองเคารพนับถือหรือตามสถานที่ที่ทางหน่วยราชการกำหนดไว้ ซึ่งการไปสวดมนต์จะไปทั้งครอบครัว นับเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันที่สร้างความอบอุ่นและความเป็นสิริมงคลให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี การสวดมนต์ข้ามปีจะเริ่มสวดตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่มจนถึงตี 1 จึงแยกย้ายกันกลับบ้านพักผ่อน เพื่อตื่นเช้าไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น
2.การทำบุญ
เมื่อถึงตอนเช้าวันปี๋ใหม่ไทย หนุ่มสาวและพ่ออุ้ยแม่อุ้ยต่างก็แต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองประจำของตน พร้อมทั้งจัดสำหรับอาหารไปและเดินทางไปทำบุญตามวัดที่ครอบครัวนับถือ นอกจากนั้นทางหน่วยงานราชการยังได้มีการจัดการตักบาตรพระสงฆ์ที่ทำการนิมนต์มา เพื่อชาวบ้าน ข้าราชาการในพื้นที่ได้ร่วมทำบุญเป็นการสร้างกุศลและความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ให้กับตนเองและครอบครัวของตน ซึ่งภายในงานจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการตักบาตร ซึ่งภายในงานจะมีประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมตักบาตรเป็นแถวยาวสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว
3.การรับพรปีใหม่จะผู้สูงอายุ
ช่วงวันปี๋ใหม่ไทยลูกหลานที่เดินทางไปทำงานจากต่างถิ่นจะเดินทางไปทำความเคารพและนำของขวัญของฝากวันปีใหม่ไปมอบให้กับผู้เฒ่าผู้แก่หรือที่เรียกว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ตนเองเคารพนับถือ ซึ่งพ่ออุ้ยแม่อุ้ยจะให้ศีลให้พรกับลูกหลาน เพื่อความเป็นสิริมงคลตอนรับปีใหม่ ให้ชีวิตในปีนี้เริ่มต้นด้วยสิ่งดีงามและมีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น
4.พาครอบครัวท่องเที่ยว
ช่วงปี๋ใหม่ไทยอย่างที่เรารู้กันดีว่าเป็นช่วงที่ภาคเหนือมีความสวยงามมากที่สุด เพราะเหล่าดอกไม้เมืองเหนือต่างแข่งขันกันเบ่งบานและชูช่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ไปเข้าชมกันอย่างสวยงาม ซึ่งชาวเหนือที่เดินทางกลับบ้านมักจะพาครอบครัวเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยกองมู วัดพระธาตุแม่เย็น วัดร่องขุ่น เป็นต้น เพื่อขอความเป็นสิริมงคลและอยู่อย่างร่มเย็นตลอดทั้งปี นอกจากการสักการะสิ่งศักดิ์แล้ว ยังพาไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ที่เปิดให้เที่ยวชม ทั้งสวนสัตว์ สวนดอกไม้และรับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว นับว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขให้ทั้งผู้ที่กลับไปบ้านในช่วงวันหยุดและพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่อยู่บ้านรอคอยการกลับมาของลูกหลานได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าวันปี๋ใหม่ไทยของชาวภาคเหนือ จะไม่ได้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจเหมือนกับวันปี๋ใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์ แต่สำหรับชาวเหนือแล้ววันปี๋ใหม่ไทยก็นับเป็นวันสำคัญ ที่ทำให้ชาวเหนือทุกคนมีความสุขเช่นเดียวกับวันปี๋ใหม่เมือง