กัมพูชาหรือเขมร มีวัฒนธรรมที่เหมือนกับประเทศไทยเกี่ยวกับการทำบุญปีใหม่ในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงของการจัดเทศกาลสงกรานต์ และถือเป็นช่วงแห่งการทำบุญปีใหม่ โดยเป็นประเพณีที่ช่วยสร้างสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว เพราะในรอบหนึ่งปีชาวกัมพูชาที่มาอยู่ในประเทศไทยจะข้ามไปยังฝั่งกัมพูชาเพื่อกลับไปหาครอบครัวของตนเอง ซึ่งเหมือนกับคนไทยที่กลับต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่เช่นเดียวกันนั่นเอง
การทำบุญปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ของกัมพูชา
กัมพูชา มีชื่อเรียกประเพณีสงกรานต์ ว่า บ็อน โจล ชนัม ทเม็ย แปลว่า การทำบุญขึ้นปีใหม่ เป็นประเพณีที่มีอยู่คู่กับประเทศมาตั้งแต่ยุคเจนละนคร โดยพระเจ้าองค์ด้วง และปฏิบัติสืบต่อกันมากระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในสมัยโบราณให้ถือเอาเดือนอ้าย หรือเรียกว่า เดือนมัคสิร์ ซึ่งนับตามปฏิทินจันทรคติ เป็นเดือนทำบุญปีใหม่ แต่เมื่อสมัยของพระเจ้าองค์ด้วง จึงเปลี่ยนมาเป็นเดือนเจตร หรือเดือน 5 แทน ปัจจุบันถือตามปฏิทินสุริยคติ วันทำบุญขึ้นปีใหม่ จึงตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายนของทุกปี
เทศกาลทำบุญให้กับพ่อแม่ผู้ล่วงลับทั้งหลาย
นอกจากประเพณีสงกรานต์ การทำบุญปีใหม่ของกัมพูชา จะเป็นประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งทำให้ประชาชนเกิดความรักสามัคคีกันแล้ว จุดประสงค์ที่สำคัญของการทำบุญปีใหม่นี้ คือ การได้มีโอกาสทำบุญให้กับพ่อแม่และบรรพชน รวมถึงสมาชิกของครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณของลูกหลาน ไม่ว่าลูกหลานชาวกัมพูชาจะไปทำงานที่ไหน จะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดของตนเอง เพื่อกลับมาทำบุญขึ้นปีใหม่ร่วมกับญาติพี่น้องของตนเอง
การจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญ
ชาวกัมพูชาคล้ายกับคนไทย เพราะเป็นคนที่มีนิสัยชอบทำบุญ เมื่อถึงเทศกาลทำบุญปีใหม่ จะมีความกระตือรือร้นในการจัดเตรียมสิ่งของ โดยพี่น้องชาวกัมพูชาจะออกไปตลาดใกล้บ้าน เพื่อซื้อของที่ต้องใช้ในการทำอาหาร และใช้ในการไหว้เทพเทวดาเนื่องในปีใหม่นี้ด้วย เช่น ผลไม้ ขนม ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหารสด เพื่อใช้ในการทำอาหารไปถวายพระที่วัด เมื่อจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว จะมีส่วนหนึ่งที่ใช้ในการไหว้และถวายแก่เทวดา (Tevoda) ผู้ปกป้องดูแลบ้านเรือน และขอพรจากท่านเหล่านั้น ให้สมาชิกในครอบครัวมีแต่ความโชคดีตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจะมีการนำอาหาร และสิ่งของทำบุญออกไปรวมกันที่วัด เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ รวมทั้งมีการฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล เพื่อสร้างบุญและความเป็นสิริมงคลให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว
ประเพณีสำหรับการทำบุญปีใหม่ร่วมกันของชาวกัมพูชา
ประเพณีการทำบุญร่วมชาติกันของชาวกัมพูชา คล้ายกับการทำบุญของไทย และพม่า ซึ่งนอกจากมีการถวายอาหารแด่พระสงฆ์แล้ว ยังมีประเพณีที่ทำเพื่อสร้างบุญต่างๆ ดังนี้
1.การทำบังสุกุลให้กับผู้ล่วงลับ
การทำบุญบังสุกุล มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำบุญให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วทุกคน ซึ่งมีความเชื่อว่าสิ่งของที่ทำและถวายแด่พระสงฆ์นั้นจะไปถึงวิญญาณของญาติทั้งหลายที่ไปจากโลกนี้แล้ว และหากตกทุกข์ได้ยากอยู่ เมื่อได้รับผลบุญแล้วจะทำให้ไปสู่สุขคติและมีความสุข รวมทั้งส่งผลให้วิญญาณไปเกิดในสถานที่ดี
2.ประเพณีก่อเจดีย์ทราย
ประเพณีการก่อเจดีย์ทราย เป็นความเชื่อที่สอนต่อๆ กันมา ว่าในระหว่างที่เดินเข้าไปในบริเวณวัด จะมีการเหยียบเอาดินและทรายจากในบริเวณวัดออกมาก เพื่อไม่ให้ติดหนี้สงฆ์ ในช่วงทำบุญปีใหม่นี้ จึงต้องมีการนำดินทรายจากนอกวัด ไปในวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย และเป็นการทดแทนแผ่นดินที่ได้เหยียบย่ำนั้นด้วย
3.ปล่อยนกปล่อยปลาและสัตว์
ประเพณีการปล่อยนกปล่อยปลา และสัตว์ทั้งหลายให้หลุดจากการกักขัง เชื่อว่าจะเป็นบุญกุศล และชาวกัมพูชาเชื่อว่าการปล่อยสัตว์ในช่วงทำบุญขึ้นปีใหม่นี้จะช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น เพราะได้ให้ชีวิตต่อสรรพสัตว์ที่ปล่อยไปนั้น
4.สงฆ์น้ำพระพุทธรูป
เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในประเพณีทำบุญปีใหม่ของกัมพูชา ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะได้มีโอกาสชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากพระพุทธรูปที่สะสมมาทั้งปี กุศโลบาย คือ การชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากจิตใจทั้งหมด ก่อนเข้าสู่ปีใหม่นั่นเอง
การละเล่นพื้นบ้านและงานรื่นเริงบุญขึ้นปีใหม่
ชาวกัมพูชาจะมีการละเล่น และกิจกรรมสร้างความสนุกสนาน เนื่องในวันทำบุญขึ้นปีใหม่ โดยมีการรวมตัวกันที่วัดเพื่อให้มีการละเล่นต่างๆ ตามแบบโบราณ ดังนี้
1.การเล่นชักเย่อ
ชักเย่อเป็นการละเล่นที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนิยมเล่นในงานทำบุญและงานรื่นเริง ซึ่งชาวกัมพูชานำการละเล่นนี้ มาเล่นในวันทำบุญขึ้นปีใหม่ โดยเยาวชน หนุ่มสาว ผู้สูงอายุของหมู่บ้านจะมารวมกัน ซึ่งผู้ที่ยังหนุ่มและมีแรงจะเล่นชักเย่อ เพราะต้องใช้แรงในการดึงเชือก
2.การเล่นปิดตาซ่อนผ้า
เป็นการละเล่นคล้ายกับการเล่นมอญซ่อนผ้าของประเทศไทย ซึ่งต้องใช้แรงในการวิ่ง ผู้สูงอายุจะมาคอยให้กำลังใจเยาวชนคนหนุ่มสาวระหว่างการเล่น
3.ปิดตาตีหม้อ
เป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกช่วงวัย เพราะไม่ต้องใช้แรงมาก โดยการปิดตาแล้วถือไม้เพื่อไปตีหม้อให้แตกจะเป็นผู้ชนะ นิยมนำมาเล่นในบุญขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา
4.การวิ่งไม่ไผ่
การละเล่นนี้ เป็นการนำสิ่งที่มีในท้องถิ่นมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเล่น ได้แก่ ไม้ไผ่ โดยมีการนำไม่ไผ่มาตัดเป็นท่อนยาวๆ ทำที่เหยียบสูงจากพื้นประมาณหนึ่งเมตร เพื่อให้เป็นที่ขึ้นไปเหยียบและเดิน ใครเดินถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในช่วงทำบุญขึ้นปีใหม่ในกัมพูชา แม้ว่าปัจจุบันนี้ รูปแบบของการทำบุญขึ้นปีใหม่ของกัมพูชา จะมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เนื่องจากความเจริญด้านต่างๆ เข้าไปสังสังคมกัมพูชา กระทั่งผู้สูงอายุในกัมพูชาบอกว่า ไม่เหลือประเพณีเดิมสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเพณีอันดีงามหลายอย่างของกัมพูชา ยังมีอยู่และพร้อมที่จะให้ไปเรียนรู้ และเก็บความประทับใจได้ตลอดเวลา