นิทาน คำนี้มาจากภาษาบาลีตรง ๆ เลย (บาลี : นิทาน อ่านว่า นิทานะ) แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในภาษาไทย มีความหมายอย่างน้อย 2 ความหมาย ได้แก่
- นิทาน เป็นเรื่องเล่าสืบต่อ ๆ กันมา กล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุด นิทานแต่ละเรื่องอาจมีกำเนิดพร้อม ๆ กับครอบครัวของมนุษยชาติ มูลเหตุที่มาของเรื่องแต่เริ่มแรก น่าจะมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วเล่าสู่กันฟังจากปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังเป็นทอด ๆ มา อาจจะมีการเสริมเติมแต่งเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและตามไหวพริบของผู้เล่าเอง จนห่างไกลจากเรื่องจริงไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นนิทานไป นิทานในความหมายนี้ อาจรวมถึงเรื่องเล่าที่เกิดจากจินตนาการด้วยก็ได้
- นิทาน (บาลี) หมายถึงเรื่องต้นเหตุของเหตุการณ์ที่มีขึ้นในปัจจุบัน เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ ก็จัดเป็นอวิทูเรนิทานของพระพุทธเจ้า (เรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานของพระพุทธเจ้า) เพราะว่าเจ้าชายสิทธัตธะนั้นเป็นเรื่องต้นเหตุของเหตุการณ์การมีพระพุทธเจ้า ถ้าหากไม่มีเจ้าชายสิทธัตธะที่ออกผบวช ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นต้น
ในพระอภิธรรมแบ่งนิทานออกเป็น 3 ได้แก่
- ทูเรนิทาน (นิทานไกล)
- อวิทูเรนิทาน (นิทานไม่ไกล)
- สันติเกนิทาน (นิทานใกล้)
ในบรรดานิทานทั้ง 3 นั้น ทูเรนิทานนับตั้งแต่บาทมูลของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร จนถึงดุสิตบุรี
อวิทูเรนิทานนั้นนับตั้งแต่ดุสิตบุรีจนถึงโพธิมณฑล
คำว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่ควงไม้ปาริฉัตตกะในหมู่เทพยดาชั้นดาวดึงส์นั้นแล ได้ตรัสอภิธรรมแก่เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์นี้ ชื่อว่าสันติเกนิทาน
อธิบายให้เข้าใจอีกที ทูเรนิทานนับตั้งแต่สุเมธดาบสได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตจนถึงพระองค์ได้อุบัติบนสวรรค์ชั้นดุสิต (หลังจากเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร)
อวิทูเรนิทาน นับตั้งแต่พระองค์เสด็จจากสววรค์ชั้นดุสิตจนถึงเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
สันติเกนิทาน คือหลังเหตุการณ์ที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จะเห็นว่าศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า นิทาน เป็นคำบาลีในพระพุทธศาสนา หมายถึงเรื่องที่เคยมีอยู่จริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นแต่ประการใด แต่เพราะนิทานในพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงเรื่องต้นเหตุย้อนหลังไปนานมาก จนบางอย่างที่เคยมีในยุคนั้น ๆ ไม่ปรากฏให้คนได้เห็นในยุคนี้อีกแล้ว คนไทยจึงยืมคำว่า นิทาน ในภาษาบาลีมาใช้ โดยอนุโลมใช้เทียบกับนิยายปรัมปราให้เรียกว่า นิทาน ไปด้วย.