กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คุณไม่ต้องสนใจหรอกว่านานแค่ไหน มีกิ้งก่าตัวหนึ่ง (ไม่ระบุว่าตัวผู้หรือตัวเมีย) อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูอุทยาน (สวน) ทุกครั้งที่พระราชาเสด็จมายังพระราชอุทยาน เจ้ากิ้งก่าตัวนั้นก็ผงกหัวดูเป็นการถวายคารวะ เมื่อพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็รู้สึกพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเม็ดทองให้ผู้ดูแลพระราชอุทยานเพื่อซื้อเนื้อมาเป็นอาหารให้เจ้ากิ้งก่าตัวนั้นทุกวัน …
ต่อมาวันหนึ่งผู้ดูแลไม่สามารถหาซื้อเนื้อที่ตลาดมาให้เจ้ากิ้งก่าได้ (มีผู้อธิบายว่าเนื่องจากวันนั้นเป็นวันพระ) เขาจึงนำเม็ดทองนั้นร้อยเชือกผูกคอกิ้งก่านั้นแทน
นับแต่วันที่ได้ทองเป็นสร้อยคอ เจ้ากิ้งก่าตัวนั้นก็มิได้ผงกหัวอีกเลย แม้พระราชาจะเสด็จผ่านก็ตาม กลับเชิดชูคอไว้สูง เมื่อพระราชาได้ตรัสถามทราบความว่า ตั้งแต่เจ้ากิ้งก่าตัวนี้ได้ทอง ก็ไม่เคยผงกหัวอีกเลย จึงรู้สึกผิดหวังในสิ่งที่เจ้ากิ้งก่าได้ทำยิ่งนัก จึงสั่งงดจ่ายค่าอาหารแก่เจ้ากิ้งก่านั้น ไม่ให้ซื้อเนื้อเลี้ยงเจ้ากิ้งก่านั้นอีกต่อไป แถมยังขับไล่มันหนีไปอีก
ข้อคิด นิทาน กิ้งก่าได้ทอง
เรื่องนี้ได้ข้อคิดหลายประการ แล้วแต่มุมมองของผู้เล่าหรือผู้ฟัง แต่โดยมากจะบอกว่า
- อย่าเย่อหยิ่ง เพราะได้ดีหรือมีทรัพย์ขึ้นเล็กน้อย
- อย่ายิ่งผยอง ต่อผู้มีพระคุณ
- อย่าเป็นคนอกตัญญู
- จงเป็นผู้ที่มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่
- วันพระเขาไม่ฆ่าสัตว์กัน
- ความโลภ ความหยิงผยองมันมีได้กับทุก เมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้มันแสดงออกมา
- หากเราทำให้คนที่มีคุณหรือดีกับเราผิดหวังแล้ว เขาจะเปลี่ยนไป เหมือนอย่างที่เราเปลี่ยนไป
เรื่องนี้เป็นนิทานพื้นบ้าน ถ้าว่าไปแล้ว การผงกหัวก็เป็นธรรมชาติของกิ้งก่า เราอาจจะเข้าใจไปเองก็ได้ว่ามันแสดงความเคารพเรา มันนอบน้อมเรา อย่างว่าแหล่ะ คนเราต้องการแต่ให้ผู้อื่นเคารพนบนอบตนเอง การที่มันได้เม็ดทองแขวนที่คอ ทำให้มันรู้สึกอึดอัด มันจึงต้องพยายามชูคอให้ตั้งตรงขึ้น และวิ่งไปมาเพื่อให้คนช่วยเอาออกไปเสีย แต่คนกลับเข้าใจผิดคิดว่ามันเย่อหยิงหรือลืมตัวเสีย
อ่านเพิ่มเติม “กิ้งก่าได้ทอง” เรื่องเน่า ๆ ของกะปอมสู่สังคมไทย