เชื่อว่าตำนานของเรื่องท้าวขูลูนางอั้ว คงพอจะได้ผ่านหูผ่านตาคุณมาบ้าง เพราะเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน รวมทั้งคงพอจะได้เห็นทางสื่อต่างๆ มาแล้ว วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับตำนานท้าวขูลูนางอั้วกันให้ลึกซึ้งมากขึ้น
ไขความสงสัย ท้าวขูลูนางอั้วทั้งสองเป็นใครกันแน่?
ท้าวขูลูเป็นโอรสของท้าวพรมสี และพระนางพิมพากาสี ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเมือง นครกาสี ส่วนอั้วเคี่ยม หรือนางอั้ว เป็นธิดาของท้าวปุตตาลาด และพระนางจันทรา กษัตริย์และราชินีแห่งเมือง กายนคร
โดยกษัตริย์และราชินีทั้งสองเมืองนี้ เป็นเพื่อนสนิทร่วมน้ำสาบานกัน อีกทั้งยังได้ตกลงกันด้วยว่าถ้ามีลูกที่เป็นโอรสเหมือนกันจะให้เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าเป็นเพศต่างกันจะให้แต่งงานกัน
จุดกำเนิดความแตกหักของสองเมือง
ทั้งสองเมืองได้เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ในครั้งหนึ่งพระนางจันทรา ที่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ และกำลังแพ้ท้องได้เสด็จไปที่นครกาสี เพื่อเยี่ยมพระนางพิมพากาสี เพราะพระนางพิมพากาสีก็ท้องอ่อนๆ เช่นกัน และทั้งสองราชินีได้เสด็จประพาทอุทยาน ครั้นเสด็จผ่านสวนสมเกลี้ยงหรือส้มโอ พระนางจันทราอยากเสวยส้มเกลี้ยงนั้นมาก จึงได้ขอจากพระนางพิมพากาสี แต่นางไม่ให้และบอกว่าส้มนั้นยังไม่สุก ทั้งที่มีลูกสุกอยู่เต็มต้น ทำให้พระนางจันทาโกรธมาก และผูกใจเจ็บอย่างยิ่ง ประกาศตัดขาดความเป็นเพื่อนและไม่เผาผีกันตั้งแต่ครั้งนี้เลย
เมื่อราชบุตรและราชธิดาประสูติ
จากนั้นไม่นาน พระนางพิมพากาสี ก็คลอดลูกออกมาเป็นชาย ชื่อว่า ขูลู ส่วนพระนางจันทรา ก็คลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิงให้ชื่อว่า นางอั้ว โดยทั้งสองเกิดปีเดียวกัน และได้รับการอบรมเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เมื่อท้าวขูลูอายุ 15 ปี ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม และมอบเครื่องราชบรรณาการต่อเมืองกายนคร ครั้งนั้นเองทำให้ได้พบและรู้จักกับนางอั้ว เป้นรักเมื่อแรกพบครั้งแรก ทำให้ทั้งสองรู้สึกชอบพอกันตั้งแต่พบกันครั้งแรก เพราะบุพเพสันนิวาสที่นำพาเขาสองคนมาเจอกัน แม้จะมีเส้นแบ่งของความเกลียดชังรุ่นพ่อแม่กีดกันไว้ก็ตาม
เมื่อรักแรกพบสานสัมพันธ์ต่อกัน
เมื่อท้าวขูลูกลับมาที่เมืองนครกาสี ก็รู้สึกคิดถึงนางอั้วใจจะขาด ใจอยากได้นางอั้วมาเป็นมเหสี จึงได้ขอร้องให้พระบิดาและพระมารดาไปสู่ขออั้วให้กับตน จากนั้นพระบิดาและพระมารดา ได้ส่งแม่สื่อเพื่อเดินทางไปทำหน้าที่ทาบทามนางอั้วให้กับท้าวขูลู แต่พระนางจันทราไม่ยอมยกให้ เพราะความโกรธในครั้งอดีต เมื่อแม่สื่อกลับมาส่งข่าว ทำให้ท้าวขูลูเศร้าโศกเสียใจมาก
ขุนลางกษัตริย์เมืองขอมภูเขาก่ำ
ฝ่ายขุนลาง ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเมืองขอมภูเขาก่ำ หรือเขมรป่าดง ที่เป็นชาวสักยันต์ขาลายสีดำ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ยังไม่เจริญนัก เมื่อได้ยินคำล่ำลือถึงความสวยสดงดงามของนางอั้วเคี่ยม ก็อยากได้มาเป็นมเหสีเช่นกัน จึงส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ พระนางจันทราอยู่บ่อยๆ ทั้งยังใช้เวทย์มนต์ลงในเครื่องราชบรรณาการนั้นมาด้วย ทำให้พระนางจันทรา เกิดความพอใจขุนลาง และอยากได้มาเป็นลูกเขย โดยนางอั้วเคี่ยม ได้รู้ข่าวดังนั้นก็เสียใจมาก เพราะขุนลางเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือพระธรรม แต่พระนางจันทรากลับส่งแม่สื่อไปยินยอมคำสู่ขอนั้น และรับปากจะพูดกับอั้วเคี่ยมให้ใจอ่อนในภายหลังให้
เมื่อท้าวขูลูรู้ข่าวเรื่องขุนลาง ส่งเครื่องราชบรรณาการมาเพื่อสู่ขออั้วไปเป็นมเหสี ก็ไม่สบายใจยิ่งนัก จึงขอร้องให้พระบิดาพระมารดา ส่งแม่สื่อไปขอนางอั้วอีกครั้ง และทวงสัญญาที่สองเมืองเคยให้ไว้ต่อกัน แต่พระนางจันทรากับปฏิเสธคำสัญญานั้น อีกทั้งยังได้ยกเลิกคำสัญญาด้วย เพราะเหตุที่พระนางขอสมเกลี้ยงไม่ได้เมื่อครั้งไปเที่ยวอุทยาน ณ นครกาสี
การเสี่ยงสายแนนและการเสี่ยงคู่เกิดขึ้น
เมื่อเรื่องทุกอย่างมีแววบานปลายมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดศึกชิงนางขึ้น เมืองกายนครจึงหาทางออกด้วยการเสี่ยงสายแนน หรือรกห่อหุ้มทารก ซึ่งตามความเชื่อว่าทุกคนจะมี สายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถนหรือเมืองสวรรค์ ก่อนจะมาเกิดที่โลกมนุษย์ และต้องแต่งงานเป็นคู่ตามสายแนนนั้น หากแต่งงานผิดสายแนน จะอยู่กันไม่ยืด เป็นอันต้องอย่าร้าง และให้คนทรงทำพิธีเซ่นไหว้พระยาแถนหรือพระอินทร์ และนำของไปถวายพระยาแถน เพื่อขอดูสายแนนของท้าวขูลูและนางอั้ว
ซึ่งจากการเสี่ยงทายสายแนนพบว่าสายแนนของท้าวขูลูพันกันอยู่ แต่ตอนปลายยอดด้วน และปลายแยกออกจากกัน แสดงว่าท้าวขูลูและนางอั้วเป็นคู่กันจริง แต่อยู่ด้วยกันได้ไม่นานต้องมีเรื่องให้พลัดพราก รวมทั้งพบว่าสายแนนของท้าวขูลูนั้นมีแท่นทองอยู่ด้วย แสดงว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ลงมาเกิด จากนั้นแม่สูน หรือนางทรง หรือนางเทียม ได้แจ้งให้พระนางจันทราทราบ เมื่อพระนางจันทราทราบอย่างนั้น ยิ่งเร่งให้มีพิธีอภิเษกระหว่างขุนลางกับนางอั้วเร็วขึ้น
การพบกันครั้งสุดท้ายของท้าวขูลูนางอั้ว
นางอั้วซึ่งรักมั่นต่อท้าวขูลู โดยไม่สนแม้ว่าคำเสี่ยงทายสายแนนจะเป็นอย่างไร ส่วนท้าวขูลูได้แต่เศร้าโศกเสียใจทุกข์ทรมาน เมื่อได้ยินข่าวพิธีวิวาห์ของขุนลางและนางอั้ว ซึ่งก่อนวันพิธีวิวาห์นางอั้วได้ให้คนส่งข่าวไปยังท้าวขูลู เพื่อมาพบกันที่อุทยาน ที่ที่ทั้งสองเคยบอกรักกัน ณ ที่นั้น จากนั้นท้าวขูลูรีบเดินทางมาทันที และทั้งคู่ได้เจอหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเมื่อทั้งสองได้เจอหน้ากันแค่นั้น พระนางจันทราได้ตามมาเจอ แล้วพรากตัวนางอั้วไป ทั้งดุด่านางอั้วให้เจ็บช้ำน้ำใจ นางอั้วเสียใจและทรมานมาก ที่ไม่สมหวังในความรัก และต้องแต่งงานกับคนที่ตัวเองไม่ได้รักอย่างขุนลาง จึงตัดสินใจผูกคอตายในห้องบรรทมของนาง
ส่วนท้าวขูลูเมื่อรู้ข่าวว่า นางอั้วได้ผูกคอตายแล้ว ก็โศกเศร้าเสียใจ และอาลัยนางอันเป็นที่รักอย่างยิ่ง จากนั้นจึงฆ่าตัวตายตาม ด้วยการใช้พระขรรค์ปักลงที่คอของตัวเอง ตายตามนางอั้วไปที่เมืองกายนคร ฝ่ายขุนลางเมื่อรู้ข้าวร้ายก็ตกใจมาก ครั้นเมื่อลงจากช้างทรงในขบวนขันหมาก ทันที่ที่เท้าแต่พื้น แผ่นดินได้สูบเอาร่างขุนลางลงสู่นรกในทันที
เหตุผลวิบากกรรมและสิ่งที่ท้าวขูลูและนางอั้วต้องเจอ
เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้ก่อเวรกรรมไว้ ชาตินี้จึงต้องมาใช้เวรกรรม ตามกฎแห่งกรรมให้ไม่สมหวังในความรัก เพราะชาติก่อนท้าวขูลูเป็นเจ้าเมืองเบ็งชอนหรือบัญชร ส่วนนางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่า นางดอกซ้อน ในอดีตชาติมีผัวเมียคู่หนึ่ง ที่ไม่เคารพยำเกรงนางดอกซ้อน ทำให้นางโกรธมาก จึงฟ้องให้เจ้าเมืองลงโทษสองผัวเมีย ซึ่งเจ้าเมืองได้สั่งลงโทษไม่ให้เป็นผัวเมียกันอีก หากใครชักนำทั้งสองให้มาอยู่กินกันอีก จะถูกประหาร ทั้งสองผัวเมียเสียใจมาก ทำให้ผู้เป็นเมียผูกคอตาย ส่วนสามีใช้มีดแทงคอตาย ขูลูและนางอั้วจึงต้องรับทำวิบากกรรมนี้เหมือนกัน
วิญญาณของท้าวขูลูและนางอั้วได้พบกัน
เมื่อทั้งสองตายแล้ววิญญาณได้ไปเกิดบนสวรรค์พร้อมกัน และได้ไปเป็นสามีภรรยากันบนสวรรค์ ส่วนที่เมืองกาสีและเมืองกายนครบนโลกมนุษย์ มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของทั้งสองคน โดยเผาศพทั้งสองพร้อมกันและตั้งอัฐิไว้ที่เดียวกันด้วย จากนั้นสองเมืองก็กลับมาสามัคคีและรักกันเหมือนเดิม
ส่งท้ายตำนานท้าวขูลูนางอั้ว
ตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่า ดักแด้ขูลูที่ใบตอง คือท้าวขูลู ส่วนนางอั้ว ได้เกิดเป็นดอกไว้งาม ชื่อต้นนางอั้ว ชาวอีสานเรียกว่าต้นสะเลเต ทางภาคกลางเรียกว่า ดอกมหาหงษ์ ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า ดอกสบันงา หรือบางคำสอน กล่าวไว้ว่าท้าวขูลู คือท้าวผาแดง ส่วนนางอั้วเคี่ยมคือนางไอ่คำ ขุนลางคือ พระญาศรีสุทโธนาคราช นั้นเอง ตำนานท้าวขูลูนางอั้ว เป็นอีกหนึ่งตำนานอมตะตลอดกาล ที่ให้คติสอนใจเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับกรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่าตำนานเรื่องนี้จะใช้เป็นเรื่องราวคำสอนเรื่องกรรม บาปบุญคุณโทษ ให้กับคนรุ่นหลังต่อไปได้อย่างยาวนาน