มนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนับภพนับชาติกันไม่ถ้วน บางชาติดีบ้าง บางชาติต้องรับผลกรรมที่เคยทำเมื่อครั้งอดีต ดังเช่นตำนานรักของท้าวบารสและนางอุสาที่จะได้เล่าให้ฟังนี้ เป็นตำนานความรักอมตะข้ามภพชาติอีกเรื่องหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องราวความรักของทั้งสองจะมีความเป็นอย่างมาอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
มูลเหตุของนางอุสาแต่ชาติปางก่อน
นางอุสานั้นในอดีตชาติ นางเคยเป็นเทพธิดาของเมืองหนึ่งในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เนื่องจากทำผิดกฎสวรรค์ ดังนั้นพระอินทร์ที่ชื่อว่า ท้าวสักกะเทวราช จึงได้สั่งให้นางลงมาเกิดยังโลกมนุษย์เพื่อชดใช้กรรม ซึ่งนางอุสาได้มาเกิดบนดอกบัว ในป่าเมืองกงพานหรือเมืองพาน จากนั้นมีพระฤาษีชื่อว่าจันทาได้นำมาเลี้ยงไว้ และพระยาพานผู้ปกครองเมืองกงพานก็ได้มาพบ จึงได้ขอไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมร่วมกับบุตรธิดาของตนอีกสองคนชื่อท้าวพานนา และนางสมัญญา
โดยพระฤาษีได้เตือนพระยาพานว่า หากนำนางอุสาไปเลี้ยงกระทั่งเติบใหญ่ และนางได้สามีเมื่อไหร่ จะเป็นเหตุทำให้พระยาพานสวรรคตได้ แต่เรื่องนี้ไม่อาจเปลี่ยนใจของพระยาพานที่จะนำนางอุสาไปเลี้ยงได้เลย
บุญญาธิการของนางอุสา
นางอุสาได้เข้ามาอยู่เป็นลูกบุญธรรมของท้าวกงพานหรือพระยาพานผู้มีฤทธิ์มาก ในเมืองกงพานอันแสนกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ นางอุสาเป็นผู้มีบุญญาธิการ โดยนางเป็นผู้มีกลิ่นตัวและผมหอม มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม และเมื่อนางได้โตเป็นสาว เรื่องราวความสวยของนาง ได้เลื่องลือไปถึงเจ้าชายและเจ้าเมืองต่างๆ ทำให้หลายเมืองต้องการมาสู่ขอนางอุสาไปเป็นคู่ครองของตนเอง เช่น เจ้าชายไกรลาส ซึ่งเป็นโอรสของแห่งเมืองหมากแข้งหรือเมืองภูเงิน ได้มีเครื่องราชบรรณาการ และสินสอดจำนวนมากเพื่อมาสู่ขอนางอุสา แต่ถูกปฏิเสธจากพระยาพาน เนื่องจากความหวงบุตรบุญธรรม จึงไม่ยอมยกให้เจ้าชายเมืองใด
สร้างตำหนักให้กับนางอุสา
พระยาพานและพระมเหสีต่างจำได้ดีเกี่ยวกับคำทำนายของพระฤาษี เมื่อครั้งรับนางอุสาเป็นลูกบุญธรรม จึงต้องการแก้เคราะห์กรรมที่จะทำให้ตนเองถึงต้องตายนั้น โดยได้สร้างหอนอนให้นางอุสา ต่อมาจึงเรียกหอนี้ชื่อว่าหอนางอุสา โดยให้อยู่กับพี่เลี้ยงท่ามกลางป่าเขา ซึ่งบนเขานั้นชื่อว่าเขาภูพาน หรือในปัจจุบันเรียกว่าภูพระบาท เพื่อไม่ให้นางได้มีโอกาสเจอผู้ชายคนใด แม้กระทั่งทารกผู้ชาย
โดยพระยาพานให้นางอุสาพักในหอนั้น และให้เรียนสรรพวิชากับพระฤาษีจันทา ซึ่งอาศรมอยู่ไม่ไกลมากนักจากหอของนาง แต่นางอุสาไม่เคยรู้เหตุผลที่แท้จริง ว่าเหตุใดนางจึงต้องมาอยู่กลางป่าเขา ท่ามกลางเฉพาะผู้หญิง ห่างไกลผู้คน และไม่มีผู้ชายคนใดสามารถมาเกี่ยวข้องได้เลยเช่นนี้
นิมิตถึงพระยางูใหญ่ของนางอุสา
เมื่อนางอุสาได้เจริญวัยขึ้นเป็นสาว และวันหนึ่งนางได้มีนิมิตฝันเรื่องราวแปลกๆ โดยได้ฝันถึงพระยางูใหญ่สีเหลืองทองได้มารัดตัวของนาง กระทั่งสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก แต่นางอุสาก็มิได้เล่านิมิตนี้ให้กับใครฟัง ต่อมาอีกวันหนึ่งนางและพี่เลี้ยงรวมทั้งบริวาร ได้พากันไปเล่นน้ำที่ลำธารใกล้หอ นางได้นำดอกไม้มาร้อยเป็นรูปมาลัยหงส์ แล้วอธิษฐานเสี่ยงทายเนื้อคู่ของตนเอง โดยได้อธิษฐานว่า หากชายใดที่เป็นเนื้อคู่ของนาง ขอให้ได้พบกับมาลัยของนาง ก่อนจะลอยลงไปยังแม่น้ำโขง กระทั่งลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัว ซึ่งมีท้าวบารสผู้เป็นโอรสของจ้าวเมืองนั้น
ท้าวบารสนิมิตก่อนพบมาลัยหงส์ของนางอุสา
ท้าวบารสเป็นพระโอรสของเมืองปะโคเวียงงัว โดยเป็นชายหนุ่มผู้มีรูปร่างสง่างามพร้อมด้วยบุญญาธิการ เมื่อครั้งประสูติได้มีเหตุการณ์น่าอัศจรรย์เกิดขึ้น คือมีดอกไม้บานทั้งเมือง จึงได้นามว่าท้าวบารส แปลว่าผู้มีกลิ่นหอม โดยในคืนก่อนที่จะได้พบกับมาลัยหงส์ของนางอุสา ท้าวบารสได้นิมิตว่าได้ไปเล่นน้ำในสระแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยดอกบัวสวยงามบานเต็มไปหมด ในดอกบัวดอกหนึ่งมีดวงแก้วสุกใสสวยงามมาก ท้าวบารสจึงรีบว่ายน้ำเข้าไปเอาดวงแก้วนั้น แต่เมื่อจับดวงแก้วนั้นมากลับแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ท้าวบารสจึงร้องไห้เสียใจ แล้วจึงสะดุ้งตื่นจากความฝันนั้น
ท้าวบารสพบมาลัยหงส์นางอุสา
ท้าวบารสเสียดายดวงแก้วในความฝันมาก เกิดความกลัดกลุ้มใจ จึงได้ชวนเหล่าบริวารทั้งหลายไปเที่ยวเล่นน้ำในแม่น้ำโขงหน้าเมือง เมื่อว่ายน้ำเล่นอยู่นั้น ได้มองเห็นมาลัยหงส์ลอยทวนน้ำมา ทำให้เกิดความแปลกใจยิ่งนัก จึงว่ายน้ำเข้าไปเก็บมาดู เห็นว่าเป็นมาลัยรูปหงส์สวยงามทั้งยังมีกลิ่นหอมมาก ท้าวบารสจึงได้สืบหาว่าใครเป็นเจ้าของมาลัย แต่ก็ไม่มีใครรู้ จึงได้ออกตามหาเจ้าของมาลัยหงส์นั่นเอง
รักแรกพบกับนางอุสาของท้าวบารส
ท้าวบารสและบริวารทั้งหลายได้ออกตามหาเจ้าของมาลัยไปในหลายที่ กระทั่งมาถึงเขาภูพาน ท้าวบารสและบริวาร จึงได้ขี่ม้าขึ้นไปบนเขานี้ เมื่อถึงก้อนหินก้อนหนึ่งม้าของท้าวบารส ไม่ยอมออกเดินทางต่อ จึงจำเป็นต้องพักม้าที่หินก้อนนั้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่าคอกม้าบารส และบริวารทั้งหลายได้แยกไปผูกม้ากับหินอีกก้อนเรียกว่าคอกม้าน้อย เมื่อผูกม้าเรียบร้อยได้ออกเดินสำรวจบริเวณแถวนั้น
จึงได้พบกับนางอุสาที่กำลังเล่นน้ำอยู่ในบริเวณลำธาร และจึงเชื่อแน่ว่านางคือ เจ้าของมาลัยหงส์นั้น เมื่อทั้งสองได้พบกัน ต่างก็เกิดความหวั่นไหวในจิตใจ ด้วยบุพเพสันนิวาสนำพาทั้งสองให้มาพบกัน และด้วยความใกล้ชิดนั้นเอง จึงทำให้ทั้งสองคนเกิดความรักความผูกพันธ์กันจนเกินจะหักห้ามใจ กระทั่งได้เสียเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งท้าวกงพาผู้เป็นพ่อบุญธรรม ยังไม่รู้เรื่องนี้แต่อย่างใด
พระยาพานรู้เรื่องราวและกริ้วมาก
ต่อมาเรื่องราวของท้าวบารสและนางอุสาได้รู้ไปถึงพระยาพาน พระองค์ก็ทรงเกิดความกริ้วอย่างมาก จึงมีคำสั่งให้จับกุมท้าวบารสไปประหาร แต่เหล่าเสนาอำมาตย์ได้ห้ามพระยาพานไว้ เพราะเกรงว่าจะเกิดสงครามระหว่างเมืองปะโคเวียงงัวและเมืองกงพาน ทั้งจะทำให้เมืองกงพานเสียเปรียบ เพราะเมืองปะโคเวียงงัวเป็นเมืองใหญ่กว่า มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความเข้มแข็งทางด้านการเมือง รวมทั้งการทำสงครามมากกว่า พระยาพานจึงฟังคำที่เหล่าบริวารเตือนนั้น แต่ยังพยายามหาวิธีการกำจัดท้าวบารสให้ได้อยู่เช่นเดิม
พนันแข่งกันสร้างวัดภายใน 1 วัน
ด้วยความต้องการกำจัดท้าวบารส พระยาพานจึงได้ออกอุบายการแข่งขันให้สร้างวัดให้เสร็จใน 1 วัน โดยนับเวลาตั้งแต่เช้าไปกระทั่งดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมืองขึ้น จึงนับผลแพ้ชนะ หากผู้ใดสร้างไม่เสร็จจะต้องถูกตัดหัว และท้าวบารสก็รับคำท้าพนันนั้น ทำให้นางอุสาและบริวารของนาง รวมทั้งเหล่าบริวารของท้าวบารสเกิดความวิตกอย่างมาก แต่ก็มิอาจจะห้ามได้
ส่วนพระยาพานกระหยิ่มใจและมั่นใจว่าตนเองจะได้ตัดหัวของท้าวบารสแน่นอน จึงเกณฑ์ไพร่พลมาสร้างวัดที่เมืองกงพานหรือวัดพ่อตา ส่วนท้าวบารสไม่มีไพร่พลมาช่วยสร้าง นอกจากนางอุสาและพี่เลี้ยง รวมทั้งเหล่าบริวารเพียงไม่กี่คนของท้าวบารสเองเท่านั้น
ใช้ขี้ใต้หลอกเป็นดาวประกายพรึก
พี่เลี้ยงของนางอุสาเป็นคนเฉลียวฉลาด และคิดว่าท้าวบารสจะสร้างวัดไม่เสร็จทันตามกำหนดแน่ๆ จึงออกอุบายให้ท้าวบารสยกโคมขี้ใต้ขึ้นไปแขวนบนยอดไม้ใหญ่ในเวลาดึก เพื่อให้เหมือนดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมืองขึ้นแล้ว ทำให้บริวารเมืองกงพานเห็นดังนั้น จึงพากันหยุดสร้างวัด ขณะที่ท้าวบารสได้เร่งมือสร้างต่อ กระทั่งเสร็จทันตอนเช้าพอดี
พระยาพานถูกตัดหัวตามสัญญา
ครั้นรุ่งเช้าพระยาพานได้มาตรวจการก่อสร้าง ปรากฏว่าท้าวบารสได้สร้างวัดสำเร็จตามสัญญา ซึ่งเรียกวัดนี้ว่า วัดลูกเขย แต่พระยาพานสร้างไม่เสร็จ ด้วยความเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ จึงต้องโดนตัดหัวตามสัญญาที่พูดไว้ ซึ่งเลือดของพระยาพานได้กระเด็นติดผนัง และปรากฎให้เห็นกระทั่งถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นชาวเมืองกงพาน จึงได้สถาปนาท้าวพานนาผู้เป็นพระโอรส ขึ้นเป็นเจ้าเมืองกงพานแทนพระยาพานผู้เป็นบิดา
เหล่าสนมของท้าวบารสเกลียดนางอุสา
ต่อจากนั้นท้าวบารสได้พานางอุสา กลับไปยังเมืองปะโคเวียงงัว ซึ่งในที่นั้นเหล่าภรรยาและสนมทั้งหลายของท้าวบารส ต่างไม่พอใจและเกลียดนางอุสาอย่างมาก เพราะมีหน้าตาสวยงามกว่า รวมทั้งท้าวบารสยังยกให้นางอุสาเป็นใหญ่กว่าพวกนาง จึงหาอุบายเพื่อทำร้ายนางอุสา โดยได้ร่วมมือกับโหรหลวงเพื่อทำพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์กรรมให้กับท้าวบารส ซึ่งโหรได้ทำนายว่าท้าวบารส ตกอยู่ในเคราะห์กรรมใหญ่ ต้องออกเดินทางไปในป่าเพียงผู้เดียวเป็นเวลา 1 ปีก่อน จึงจะพ้นเคราะห์กรรมและกลับเข้ามาในเมืองได้
ท้าวบารสออกท่องเดินป่าตามลำพัง
ท้าวบารสเชื่อในคำทำนายของโหรนั้นจึงออกเดินทางเข้าไปในป่า และให้นางอุสาอยู่ในเมือง ทำให้เหล่าภรรยาและสนมมารุมทำร้ายนางอุสา โดยที่ท้าวประโคและแม่เมืองมารดาของท้าวบารส ไม่ได้ช่วยเหลือนางอุสาเลย นางอุสาเศร้าเสียใจเจ็บทั้งกายใจ และทนทุกข์ทรมานมาก กระทั่งทนไม่ไหวจึงตัดสินใจพาพี่เลี้ยงกลับไปยังหอนางอุสาเมืองกงพานเช่นเดิม นางอุสาป่วยทุกข์ทรมาน และตรอมใจกับความรัก ความคิดถึง ท้าวบารสสามีสุดที่รักของตนเองอย่างมาก กระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ และผอมซูบ ไม่สวยงามเช่นดังเดิม
ท้าวบารสตามไปที่หอนางอุสา
เมื่อเดินป่าครบเวลา 1 ปีแล้ว ท้าวบารสจึงกลับไปยังเมืองปะโคเวียงงัว จึงรู้ว่านางอุสาหนีกลับเมืองกงพาน และเมื่อรู้ความจริงที่เกิดกับนางจึงเสียใจมาก ด้วยความรักและห่วงใยจึงรีบเดินทางไปยังเมืองกงพาน แล้วได้พบกับเมียอันเป็นที่รักอยู่ในสภาพน่าสงสาร ไม่มีสง่าราศี ผิวหมองคล้ำ ไม่สวยเหมือนดังแต่ก่อนนี้ เนื่องจากเฝ้าคิดถึงแต่สามี กระทั่งสภาพร่างกายอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ
นางอุสาพบหน้าสามีครั้งสุดท้าย
นางอุสาได้พบหน้าท้าวบารสเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะสิ้นใจตายในอ้อมกอดของท้าวบารส แต่ด้วยบุญบารมีที่นางเคยสร้างมาแต่อดีต ทำให้ดวงวิญญาณของนางเป็นดวงจิตที่สดใสไม่เศร้าหมอง จึงทำให้ไปสู่สุคติ หากมีจิตใจที่ไม่สะอาดและเศร้าหมอง รวมทั้งไม่เคยทำบุญมาก่อน อาจจะส่งผลให้ไปเกิดเป็นเปรตได้ แต่ดีที่นางทำบุญไว้มาก เมื่อสิ้นใจจึงได้ไปทางที่ดี ส่วนท้าวบารสเมื่อเห็นเมียอันเป็นที่รักสิ้นใจต่อหน้าต่อตา จึงเศร้าเสียใจมาก และได้นำร่างไปฝังบนภูพานบริเวณหินก้อนหนึ่งใกล้ๆ กับหอนางอุสา บริเวณตรงนั้นจึงเรียกว่าหีบศพอุสา
ท้าวบารสตรอมใจตายตามนางอุสา
หลังจากที่นางอุสาได้ตายจากไป ทำให้ท้าวบารสโศกเศร้าเสียใจเป็นยิ่งนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับ และไม่กลับไปยังเมืองปะโคเวียงงัวอีกเลย สุดท้ายจึงตรอมใจตายตามนางอุสาที่เมืองกงพานนั้น สร้างความเสียใจให้กับชาวเมืองกงพานอย่างมาก โดยเฉพาะท้าวพานนาและนางสมัญญา จึงได้ปรึกษากับฤาษีจันทาพร้อมทั้งชาวเมืองในการฝังศพทั้งสองคน ซึ่งทุกคนก็ลงความเห็นให้ฝังร่างของท้าวบารส ให้อยู่บริเวณหินอีกก้อนเคียงข้างศพนางอุสา จึงเรียกหินก้อนนั้นว่าหีบศพบารส
ดวงวิญญาณทั้งสองกลับสู่สวรรค์
ดวงวิญญาณของทั้งสองคน ได้หมดเวรหมดกรรมบนโลกมนุษย์ในชาตินี้แล้ว จึงได้กลับไปอยู่บนสรวงสวรรค์ แล้วได้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปอีกหลายภพหลายชาติ กระทั่งในที่สุดทั้งสองคนจึงบรรลุนิพพาน และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดดังกล่าว ทุกชีวิตทุกดวงวิญญาณ ล้วนผ่านการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ แต่สิ่งที่สามารถช่วยค้ำชู้ให้ดวงวิญญาณแต่ละดวงสูงขึ้นได้ในแต่ละภพชาติ คืออำนาจของบุญกุศลที่สร้างไว้ในอดีต หากบุญสร้างมาดีแล้ว วิญญาณจะได้ไปในทางที่ดีคือสุคติ และหากสร้างบุญได้อย่างยิ่งยวดด้วยแล้วก็จะทำให้ดวงวิญญาณหลุดพ้นจากวัฏสงสาร และเข้าสู่นิพพานในชาติอนาคตกาลได้