ประวัติของปูชนียบุคคลที่จะเล่าในวันนี้ ถือเป็นหนึ่งเรื่องราวของบุคคลที่ผู้แก่ผู้เฒ่าแห่งจังหวัดสกลนครได้เล่าสืบต่อกันมา ถึงความเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม และเป็นผู้มีอภินิหารต่างๆ กระทั่งถูกทดลองอภินิหารนั้นจากเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็มี โดยเรื่องราวของท้าวคำแสนจะน่าสนใจเพียงใด ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
ประวัติของท้าวคำแสนจังหวัดสกลนคร
ท้าวคำแสน คือนามเดิมของท่านผู้ทรงศีล ที่ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร รู้จักกันดีในนามของเจ้าผู้ข้าหรือตาผ้าขาว โดยท่านเป็นผู้ที่ถือปฏิบัติธรรม และมีความเคร่งในศีลธรรม อีกทั้งยังเล่าลือกันว่าเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ กระทั่งได้รับความเคารพนับถือของประชาชนตลอดถึงปัจจุบัน ซึ่งท้าวคำแสนนั้นเกิดในตระกูลเจ้าเมืองวังที่เมืองอ่างคำ แขวงคำม่วนประเทศลาว
ชีวิตของท้าวคำแสนและการสมรส
เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ท้าวคำแสนได้ใช้ชีวิตตามรอยของบิดาชื่อเทพบุตร และมารดาชื่อจันทบุตร เมื่อเติบโตขึ้น ท้าวคำแสนสามารถช่วยเหลืองานบ้านงานเมืองของบิดามารดาได้เป็นอย่างดีและมีความสุจริต เมื่อถึงคราวที่พอจะออกเรือนได้ จึงได้แต่งงานกับหญิงนางหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏชื่อและตระกูลของท่าน โดยได้อยู่ร่วมกันจนกระทั่งมีบุตรตรีชื่อว่านางดอกเวียงแก้ว ภายหลังมีคนนิยมเรียกว่านางดอกปลี ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะเรียกชื่อเล่นหรือชื่อจริง
บิดามารดาย้ายสู่ประเทศไทย
เมื่อครั้งเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในเวียงจันทร์ รวมถึงบ้านเมืองมีภัยพิบัติ โดยเกิดฝนแล้งและมีโรคภัยต่างๆ บิดามารดาและญาติพี่น้อง จึงได้พากันอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อข้ามมาถึงฝั่งไทย ได้เดินทางมุ่งหน้าเพื่อมากราบไหว้พระธาตุพนม โดยได้รอนแรมผ่านท้องถิ่นต่างๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านไฮ่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงทุกวันนี้
เข้ารับราชการรับใช้แผ่นดินไทย
ขุนจำนงค์เทพรักษา ผู้มีหน้าที่ยกบัตรฝ่ายปราบปรามเมืองสกลนครสมัยนั้น ได้ทราบว่าเป็นผู้ที่เคยปฏิบัติราชการงานเมืองมาก่อน และมีความซื่อสัตย์สุจริต จึงเชิญท่านให้เป็นเสมียนศาลเมืองพรรณนานิคม เมื่อรับราชการมาระยะเวลาหนึ่ง ได้จัดการสมรสให้กับลูกสาวคือ นางดอกปลีและท้าวคำแสน ซึ่งมีชื่อตรงกับชื่อเดิมของท่านโดยบังเอิญ และระหว่างรับราชการอยู่นั้น ท่านเกิดล้มป่วยอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งต้องลาออกจากราชการเพื่อไปถือศีล 8 ตามป่าเขาลำเนาไพร ปลีกวิเวกนุ่งขาวห่มขาว ทำให้คนเรียกว่าตาผ้าขาว
บรรลุหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ท้าวคำแสน ท่านได้พำนักเพื่อบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมตามป่าเขาและถ้ำอยู่หลายแห่ง ซึ่งอยู่ตามลำพังโดยไม่กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิด เพราะท่านเป็นผู้เคร่งในศีลมาก กินเพียงเผือกมันที่ขึ้นตามป่า แต่ถึงอย่างนั้น ผิวพรรณของท่านก็ยังคงมีความผุดผ่อง แจ่มใสและดูน่านับถือเช่นเดิม เมื่อท่านปฏิบัติและเคร่งในศีลธรรมอย่างนั้น ทำให้ท่านได้บรรลุหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และได้ออกแนะนำสั่งสอนธรรมให้กับชาวบ้าน จนเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวคำแสน
หลังจากที่ท้าวคำแสนได้บรรลุธรรม กระทั่งออกสั่งสอนธรรมให้แก่ชาวบ้านทั่วไป ซึ่งก็ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารเกี่ยวกับท่าน ซึ่งไม่มีอธิบายไว้ชัดเจนนักว่าอภินิหารนั้นมีอะไรบ้าง แต่เรื่องราวของท่านได้เลื่องลือไปถึงพระยาจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร จึงนิมนต์ท่านไปเพื่อทดสอบอภินิหารของท่าน โดยให้ท่านทำนายว่าม้าที่กำลังท้องแก่อยู่นั้น จะตกลูกเมื่อไหร่ และจะได้ลูกตัวเมียหรือตัวผู้ มีสีอะไร เมื่อม้าตัวนั้นตกลูกออกมาพบว่าเป็นไปตามคำทำนายของท่านทุกประการ
รัชกาลที่ 4 ทดสอบอภินิหาร
เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารของท้าวคำแสน ได้ล่วงรู้ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้ให้ท้าวคำแสนเข้าเฝ้า โดยมีรับสั่งให้เสนาบดีทั้งเวียง วัง คลัง นา หาอุบายเพื่อทดสอบอภินิหารของท้าวคำแสน เสนาบดีทั้ง 4 ปรึกษากันเรียบร้อย จึงตกลงเอาแมวสีเหลืองใส่ไว้ในกล่อง และใช้ผ้าขาวพันรอบเป็น 7 ชั้น วางต่อหน้าท้าวคำแสน และพระองค์จึงตรัสถามว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ท้าวคำแสนจึงตอบว่าเป็นสัตว์สีเหลืองมีสี่เท้า พระองค์เห็นเป็นเช่นนั้น จึงเกิดความเลื่อมใสมาก แล้วจึงมอบเครื่องบูชาเป็นขันธ์ห้า และขันธ์แปดให้กับท้าวคำแสน
ดวงจิตอันบริสุทธิ์ของท้าวคำแสน
หลังจากได้รับพระราชทานเครื่องบูชานั้นแล้ว ไม่ว่าไปที่ไหนท้าวคำแสนจะนำเครื่องบูชานี้ติดตัวไปด้วยเสมอ กระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพ จึงได้ส่งเทียนเงิน คำ รวมทั้งเครื่องบูชาชุดนี้กลับคืนยังสำนักพระราชวัง และด้วยอำนาจของจิตที่บำเพ็ญเพียรธรรมจนบรรลุในสัจธรรม ทำให้ดวงจิตของท่านมีความสะอาดและบริสุทธิ์จากการบรรลุมรรคผลนั้น เมื่อถึงวัยชราทำให้ท่านสามารถ ระลึกได้ว่าท่านเกิดมาแล้ว 3 ชาติ
3 ชาติ 3 ภพของท้าวคำแสน
ชาติที่ 1 ท่านเกิดเป็นหมาขี้เรื้อน อาศัยอยู่กับชายแก่คนหนึ่ง และได้ไปแย่งกินรำข้าวของชาวบ้านกิน กระทั่งถูกตี ได้รับความเจ็บปวดมากและสลบไป พอฟื้นขึ้นมาก็ได้ยินเสียงเจ้าของถามว่า ยังไม่ตายอีกหรือ พร้อมทั้งยกสากมาตีหัวซ้ำอย่างแรงกระทั่งตายในที่สุด ส่วนชาติที่ 2 ได้เกิดกับคน แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นคนเลย เพราะแม่คลอดก่อนกำหนดและท่านได้ตาย พ่อแม่จึงนำร่างไปฝังไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ ทำให้ชาตินี้ เป็นชาติที่ท่านเสียใจอย่างมาก
ส่วนชาติที่ 3 ได้มีโอกาสไปเกิดในตระกูลผู้ดี มีความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เนื่องจากเป็นตระกูลเชื้อสายของเจ้าผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งก็คือชาติปัจจุบันที่ท่านเกิดในตระกูลของเจ้าเมืองอ่างคำแขวงคำม่วน ประเทศลาว ก่อนจะย้ายมาสู่ประเทศไทยทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และตั้งถิ่นฐานยังบ้านไฮ่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน
เหตุการณ์ช่วยเหลือชาวบ้านจากเสือ
ครั้งหนึ่งท้าวคำแสน ท่านได้ช่วยเหลือชาวบ้านจากเสือ เนื่องจากมีหญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ แล้วไปหาหน่อไม้ กระทั่งโดนเสือกินเหลือเฉพาะหัวและกระดูก ด้วยความเศร้าโศกนี้ชาวบ้านได้ไปกราบท้าวคำแสนเพื่อขอความช่วยเหลือ ท่านจึงให้ชาวบ้านจัดหาเครื่องสักการะมาให้ แล้วท่านก็ขึ้นกุฏิสวดมนต์ เจริญสติแผ่เมตตาธรรม เพื่อเรียกเสือโคร่ง 7 ตัวมายังสำนักของท่าน
เมื่อเสือมาถึงสำนักของท่านแล้ว ท่านได้ยืนให้เสือหมอบกราบ และท่านได้สั่งสอนเสือเหล่านั้นว่าอย่ามาทำร้ายคนอีก และท่านจะทำโทษด้วยการไม่ให้อยู่พึ่งบารมีของท่านยังที่แห่งนี้อีกต่อไป โดยจะให้ไปอยู่ในป่าเขาที่อื่น เมื่อท่านบอกเช่นนั้นแล้ว เสือเหล่านั้นจึงพากันเดินหน้ามุ่งสู่ภูพานทุกตัว จากนั้นมาจึงไม่เหลือเสือโคร่งอีกเลย จึงเป็นเหตุให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาท่านจากความเมตตาและบุญบารมีของท่าน
ปัญญาญาณหยั่งรู้อนาคตของท้าวคำแสน
จากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเคร่งในธรรมของท้าวคำแสน ทำให้บรรลุถึงสัจจะธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อีกยังเป็นผู้หยั่งรู้อนาคตได้ และเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นจริงตามคำสอนของท่านหลายอย่าง เช่น ต่อไปในภายหน้าจะมีแต่เต่าเที่ยวเดินทางกันมาก โดยเต่าก็หมายถึงรถยนต์รถเก๋งมากมายที่มีในปัจจุบัน, ต่อไปภายภาคหน้าคนจะกินน้ำบ่อเดียวกัน ซึ่งหมายถึงปัจจุบันมีประปาเพียงบ่อเดียวสามารถใช้ได้ทั้งหมู่บ้าน, ต่อไปข้างหน้าคนทั้งบ้านจะตำข้าวครกเดียวกัน อันหมายถึงปัจจุบันมีโรงสีข้าวทั้งบ้านทั้งเมือง, ต่อไปภายภาคหน้า คนจะไปทางเดียวแบบไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงคนไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์จะไม่ได้เหยียบรอยกัน และจะได้เห็นปลากั้งบินบนอากาศ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีเครื่องบินหลากหลายรูปแบบที่บินอยู่บนท้องฟ้า เป็นต้น ซึ่งคำสอนของท่านเหล่านั้น ล้วนมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
สถานที่จำศีลภาวนาสุดท้ายของท้าวคำแสน
ท้าวคำแสนหรือตาผ้าขาว หรือเจ้าผู้ข้าตามคำที่ชาวบ้านเรียก ได้ปฏิบัติธรรมและถือศีลภาวนาอยู่หลายแห่ง หลายสำนัก กระทั่งบรรลุธรรม และท่านได้มาบำเพ็ญเพียรภาวนาแห่งสุดท้ายยังถ้ำผู้ข้า ซึ่งปัจจุบันนี้ประชาชนผู้มีศรัทธาได้บูรณะสร้างเป็นวัดขึ้นมา โดยมีสถานที่ปฏิบัติธรรม ท่ามกลางบรรยากาศที่แสนร่มรื่น โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีพระภิกษุ สามเณรและพุทธศาสนิกชน เดินทางไปจำศีลภาวนาและจำพรรษาอยู่เป็นประจำจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ประวัติของท้าวคำแสนนั้น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราได้เห็นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น สามารถเข้าถึงได้กับทุกคน ทุกชนชั้นวรรณะ ซึ่งทุกคนล้วนสามารถบรรลุถึงธรรมของพระองค์ได้ หากมีความยึดมั่นในศีลธรรม และปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า มนุษย์ทุกคนก็ย่อมมีโอกาสบรรลุถึงธรรมได้เหมือนกับท้าวคำแสนตาผ้าขาวหรือเจ้าผู้ข้าของชาวสกลนครแห่งนี้กันอย่างแน่นอน
ภาพประกอบจาก : ชมรมพุทธศาสน์ พระป่ากรรมฐาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร