ประเพณีการกวนข้าวทิพย์หรือข้าวธุปายาส เป็นประเพณีความเชื่อของคนไทยหลายท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กระทั่งได้มีการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เราก็มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาสมาเล่าสู่ให้คุณฟัง ซึ่งเป็นประวัติความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
ข้าวทิพย์ ข้าวมธุปายาส คืออะไร
ในสมัยพุทธกาล ข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาส ถือว่าเป็นของทิพย์ซึ่งมีวิธีการหุงด้วยน้ำนมอย่างดี หรือมีความเชื่อว่าเป็นอาหารวิเศษ ที่ใช้สำหรับการถวายเทวดา หากเป็นสมัยพุทธกาลจะหมายถึง ถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นอาหารที่ทำขึ้นจากสิ่งต่างๆ รวมกันหลายชนิดประมาณ 108 อย่าง ได้แก่ น้ำนมข้าว ข้าวสาลีสาคู เผือก มัน นม เนย ผักผลไม้ มะพร้าว และน้ำอ้อย เป็นต้น แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดนั้นมาบดรวมกันจนเป็นแป้งผสมในน้ำกะทิแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ ใส่น้ำตาลลงไป แล้วนำมากวนด้วยไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าส่วนผสมต่างๆ จะสุกเข้ากันพอดี จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า การกวนข้าวทิพย์
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์เมื่อครั้งพุทธกาล
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์เมื่อครั้งพุทธกาล เริ่มต้นจากที่พระนางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายแด่พระโคตมพระพุทธเจ้า ก่อนวันที่พระองค์จะตรัสรู้เพียงหนึ่งวัน โดยต้องการนำข้าวทิพย์หรือข้ามธุปายาสนี้ไปบวงสรวงเทพยดาที่ต้นนิโคตร ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 จึงได้พบกับพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่แห่งนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นเทพยดา แล้วได้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยข้าวมธุปายาสนั้นแล้ว พระองค์ได้ทำการอธิษฐานเสี่ยงทาย โดยนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และได้อธิษฐานว่าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ถาดทองนี้ลอยทวนน้ำขึ้นไป และเมื่อวางถาดนั้นลงบนผิวน้ำก็ได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ คือถาดทองนั้นได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปดังคำอธิษฐาน หลังจากนั้นพระองค์จึงได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียร กระทั่งบรรลุถึงอริยสัจ 4 และสำเร็จอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาสในประเทศไทย
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาสในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาเป็นความเชื่อและเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติกันในเดือนสิบ ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา แล้วมีการฟื้นฟูประเพณีนี้อีกครั้งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการยกเลิกประเพณีนี้ไป
จวบจนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ และปฏิบัติสืบต่อกันมาในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยประเพณีการกวนข้าวทิพย์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาลต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นประเพณีของภาคกลางที่นิยมทำในวันวิสาขบูชา แต่ทางภาคอีสานนิยมทำหนึ่งวันก่อนวันออกพรรษา เชื่อว่าเพื่อเป็นการสักการะบูชาต่อพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาจากการจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวด้วย หากได้กินข้าวมธุปายาส
พิธีการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาส
พิธีการกวนข้าวทิพย์ในแต่ละท้องถิ่นจะมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะมีทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีทางพุทธ เริ่มต้นด้วยพิธีการทางพราหมณ์ โดยมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาและตั้งปะรำพิธี แล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชานั้นมายังปะรำพิธี โดยวงสายสิญจน์เป็นสี่เหลี่ยม มีมุมสี่มุมตั้งตรงฉัตรเจ็ดชั้น พร้อมขันหมากเบ็งหรือบายศรีเพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาเทพยดา และมีเครื่องประกอบการบูชาอีก ได้แก่ ผ้าไตรจีวรหนึ่งชุด และถาดใส่อาหาร โดยประกอบด้วยข้าว ไข่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และผลไม้ เป็นต้น จัดเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนการเริ่มพิธี
เมื่อพราหมณ์เริ่มสวดชุมนุมเทวดา ให้เริ่มกวนข้าวทิพย์ โดยนำส่วนประกอบที่ได้เตรียมไว้ ได้แก่ ข้าวที่เป็นน้ำนมเพิ่งออกรวงใหม่ๆ ที่เอาเปลือกออกแล้วมารวมกับสิ่งของมงคลต่างๆ ได้แก่ นม เนย ถั่วงา น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง และผลไม้ เป็นต้น แล้วใส่ร่วมกันลงไป จากนั้นกวนรวมกันกระทั่งสุกเป็นข้าวเหนียว โดยในระหว่างการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาสนี้จะมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปด้วย
สาวพรหมจารีเท่านั้นจึงกวนข้าวทิพย์ได้
การกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาสนี้ จะต้องใช้หญิงสาวพรหมจารีนุ่งขาวห่มขาวจำนวนอย่างน้อย 4 คนเป็นผู้กวน และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ชาวบ้านจะช่วยกันปั้นข้าวทิพย์ที่กวนแล้วนั้นเป็นก้อน เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในวัดประจำหมู่บ้าน และจัดไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ยังวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ส่วนที่เหลือชาวบ้านนำมารับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว ปัจจุบันประเพณีการกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาส นับวันมีแต่จะลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสู่ชุมชนมากขึ้น ดังนั้น ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป การประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ข้าวมธุปายาส จึงไม่ค่อยมีให้เห็นมากเท่าไหร่แล้วในประเทศไทย แต่ยังพอมีให้เห็นบ้างในบางชุมชนที่ยังเคร่งครัดในประเพณีอันดีงามนี้อยู่ จึงถือเป็นอีกประเพณีอันดีงามหนึ่ง ที่เราคนไทยจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้สืบต่อไปถึงลูกหลานต่อไป
ภาพประกอบจาก : https://www.m-culture.go.th/lopburi/ewt_news.php?nid=430&filename=index