เมื่อพูดถึงพญาครุฑ หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไรนักเมื่อเทียบกับพญานาค เพราะตำนานหรือเรื่องราวของพญานาคนั้นค่อนข้างมีปรากฏให้พบเห็นได้มากยิ่งกว่า แต่อย่างไรก็ตาม พญาครุฑก็ถือเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่มีอำนาจอิทธิฤทธิ์ไม่แพ้พญานาค และวันนี้เราก็จะนำเรื่องราวที่เป็นตำนานเกี่ยวกับพญาครุฑมาบอกต่อให้คุณได้รู้จักกัน ซึ่งตำนานของพญาครุฑจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย
ทำความรู้จักกับพญาครุฑ พญาแห่งนกผู้ทรงอิทธิฤทธิ์
ครุฑถือเป็นสัตว์กึ่งเทพในปกรณัมของอินเดีย โดยมีเรื่องเกี่ยวกับครุฑในวรรณกรรมอินเดีย ได้แก่ มหากาพย์ มหาภารตะ ซึ่งเล่าว่าครุฑเป็นพี่น้องกับนาค แต่ได้ทะเลาะกันจนประกาศเป็นศัตรูกัน อีกทั้งตามคติของไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งหลาย และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ปกติจะอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปครึ่งคนครึ่งนกอินทรีย์ ทั้งยังได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดๆ ที่สามารถทำร้ายครุฑได้
แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ ก็เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นครุฑจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า สุบรรณ แปลว่า ขนวิเศษ โดยครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีความแข็งแรงและพละกำลังมหาศาล บินได้รวดเร็ว มีความฉลาดเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน อีกทั้งยังมีสัมมาคารวะ ส่วนที่อยู่ของครุฑนั้นจะมีที่อยู่ตั้งแต่พื้นมนุษย์ ป่าหิมพานต์ ป่าไม้งิ้วรอบเขาพระสุเมรุ จนถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ประเภทของพญาครุฑ
ประเภทของพญาครุฑ แบ่งออกได้เป็น 4 แบบตามประเภทของการเกิดคือ
- แบบโอปปาติกะ คือเกิดแบบผุดขึ้น
- แบบชลาพุชะ เกิดในครรภ์
- แบบอัณฑชะ คือการเกิดจากไข่
- แบบสังเสทชะ เป็นการเกิดจากเถ้า
ส่วนการแบ่งครุฑโดยใช้รูปลักษณะของครุฑนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ดังนี้
1.ครุฑที่มีตัวเป็นคนธรรมดาทั่วไป แต่มีปีก
2.ครุฑที่จะมีตัวเป็นคน หัวเป็นนก
3.ครุฑแบบที่จะมีตัวเป็นคน หัวและขาเป็นนก
4.ครุฑที่จะมีตัวเป็นนก ส่วนหัวเป็นคน
5.ครุฑที่จะมีรูปร่างเหมือนนกทั้งตัว
พญาครุฑเทพแห่งปกรณัม
ตามตำนานในศาสนาพราหมณ์ฮินดูเล่าว่า ครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดรและพระนางวินตา ซึ่งพระกัศยปมุนีองค์นี้ เป็นฤาษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเทพผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ โดยองค์ที่มีความเกี่ยวข้องกับครุฑ คือพระนางวินตาและพระนางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน อีกทั้งพระนางกัทรุก็เป็นมารดาของนาคทั้งปวงด้วย
พระนางทั้งสองผู้เกี่ยวข้องกับพญาครุฑ
พระนางวินตาและพระนางกัทรุ ได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยพระนางกัทรุขอพรให้มีบุตรจำนวนมาก ต่อมาจึงได้ให้กำเนิดพญานาค 1,000 ตัว ซึ่งอาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนพระนางวินตาได้ขอพรให้มีบุตรเพียง 2 องค์ และขอให้มีบุตรที่มีอำนาจวาสนา พระนางวินตาคลอดลูกออกมาเป็นไข่ 2 ฟอง ซึ่งรอคอยถึง 500 ปี แต่ไข่ 2 ใบนั้นก็ยังไม่ฟักสักที
นางจึงทนรอไม่ไหวจึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่ง จึงได้เห็นว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนเป็นครุฑ ชื่อว่า อรุณ ซึ่งอรุณเทพบุตรโกรธมารดาตัวเองอย่างมากที่ทำให้ไข่แตกก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาเป็นทาสนางกัทรุ และรอให้บุตรคนที่ 2 ช่วยนางเพื่อให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ
เมื่อไข่ใบที่สองฟักออกมา
พระนางวินตาไม่กล้าทุบไข่ฟองที่ 2 ออกมาดู โดยรอต่อไปจนถึงเวลา 1,000 ปี เพื่อรอให้ถึงกำหนดบุตรคนที่ 2 ฟักออกมา เมื่อไข่ใบที่ 2 ฟักออกมาก็เป็นพญาครุฑนั่นเอง โดยเมื่อแรกเกิดพญาครุฑจะมีร่างกายขยายตัวออกขนาดใหญ่จรดฟ้า เมื่อกระพริบดวงตาจะเหมือนฟ้าแลบ และเมื่อขยับปีกจะทำให้ขุนเขาตกใจหนีไปพร้อมพระพาย มีรัศมีที่พวยพุ่งออกเหมือนไฟไหม้ทั่วทั้ง 4 ทิศ ทำให้เทวดาทั้งหลายเกิดความเดือดร้อน จึงขอร้องให้พญาครุฑลดขนาดลงมา
พระนางวินตาและพระนางกัทรุวางเดิมพันกัน
ในเวลาต่อมา พระนางกัทรุและพระนางวินตา ได้พนันกันเกี่ยวกับสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดขึ้นระหว่างการกวนเกษียรสมุทร และเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันกันว่าหากใครเป็นฝ่ายแพ้จะต้องเป็นทาสของอีกฝ่ายเป็นเวลา 500 ปี ซึ่งพระนางวินตาทายว่าม้ามีสีขาว ส่วนพระนางกัทรุทาว่าม้ามีสีดำ แต่แท้ที่จริงแล้ว ม้าเป็นสีขาวเหมือนที่พระนางวินตาทาย แต่พระนางกัทรุได้ใช้อุบายให้ลูกนาคของตน แปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (ขณะที่บางตำนานก็เล่าว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) แต่พระนางวินตาไม่รู้อุบายนี้ จึงยอมเป็นทาสพระนางกัทรุ 500 ร้อยปี
พญาครุฑทราบว่ามารดาต้องตกเป็นทาส
เมื่อครุฑได้รู้สาเหตุที่ทำให้มารดาของตนต้องกลายเป็นทาส และได้รับเงื่อนไขจากพวกนาค ว่าต้องไปเอาน้ำอมฤตมาให้นาคก่อน พระนางวินตาจึงจะพ้นจากความเป็นทาส ครุฑจึงบินขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อไปนำน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ จึงได้คว้าพระจันทร์มาไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และเทพทั้งหลายติดตามมาจึงเกิดการต่อสู้กัน โดยพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ครุฑบาดเจ็บได้เลยแม้แต่น้อย ส่วนครุฑเมื่อได้เห็นวัชระ ซึ่งเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้กับพระอินทร์ เมื่อเห็นดังนั้น จึงต้องการแสดงความเคารพต่อวัชระ และรักษาเกียรติของพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าทวยเทพทั้งหลาย ครุฑจึงสลัดให้ขนของตนเองร่วงลงไป 1 เส้น
พระนารายณ์ประทานพรให้กับครุฑ
พระวิษณุหรือพระนารายณ์ ได้ออกมาต่อสู้กับครุฑเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่มีฝ่ายใดชนะ จึงเจรจาทำความตกลงยุติศึกกัน โดยพระวิษณุประทานพรกับครุฑให้เป็นอมตะและให้ตำแหน่งสูงกว่า พระองค์ส่วนครุฑก็สัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุ
ครุฑได้หม้อน้ำอมฤตตามที่นาคต้องการ
เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์จึงได้ตามมาขอคืน แต่ครุฑบอกว่าต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพวกนาค เพื่อไถ่ตัวมารดาให้พ้นจากการเป็นทาส แล้วหลังจากไถ่มารดาเรียบร้อย ให้พระอินทร์ตามไปเอาหม้อน้ำอมฤตคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา เพราะหญ้าคาถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์ เมื่อนาคเห็นน้ำอมฤตก็รู้สึกยินดีมากจึงปล่อยพระนางวินตาให้เป็นอิสระ
ครุฑและนาคเป็นศัตรูกันตลอดกาล
ขณะที่พวกนาคพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อมากินน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ก็ได้ตามมาเอาหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงต้องเลียที่ใบหญ้าคา เพราะเชื่อว่าจะมีหยดน้ำอมฤติหลงเหลืออยู่ ทำให้หญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว ซึ่งนี้เป็นตำนานที่มาว่า ทำไมลิ้นของงูต้องมีสองแฉกนั่นเอง และตั้งแต่นั้นมาครุฑกับนาคจึงกลายเป็นศัตรูกันตลอดมา อีกทั้งนาคก็มักจะถูกครุฑจับกินเป็นอาหารเสมอ
ครุฑในความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ในทางพระพุทธศาสนา ครุฑจัดเป็นเทวดาชั้นล่างที่อยู่ในการปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศใต้ โดยสาเหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นครุฑ เพราะทำบุญด้วยความหลงหรือโมหะ ซึ่งตามความเชื่อทางศาสนาพุทธ ครุฑชั้นสูงจะมีกำเนิดแบบโอปปาติกะ มีขนสีทอง มีเครื่องประดับเหมือนเทพบุตรเทพธิดา ใช้ชีวิตเหมือนเทวดา สามารถแปลงกายได้ และบริโภคอาหารทิพย์เหมือนเทวดา แต่ครุฑบางประเภทก็กินผลไม้หรือเนื้อสัตว์ อีกทั้งครุฑยังเป็นเทวดาที่มีเศษกรรมจึงทำให้เกิดขึ้นมาเป็นคนกึ่งเดรัจฉาน ซึ่งครุฑบางประเภทจะจับนาคกินเป็นอาหารตามสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉานของครุฑ
การใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์
ด้วยอำนาจและอานุภาพของครุฑ จึงมีการสร้างรูปครุฑพ่าห์เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิเทวราชของอินเดีย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คือปางอวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงเป็นสัญลักษณ์ใช้แทนพระมหากษัตริย์ รวมถึงมีการใช้ตราครุฑอยู่ในดวงตรา หรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ตราประจำแผ่นดิน หรือตราประจำราชวงศ์ อีกทั้งยังใช้เป็นตราประจำรัชกาลด้วย
การใช้ครุฑเป็นตราของหนังสือราชการ
ในเวลาต่อมาได้มีการใช้ตราครุฑเป็นหัวกระดาษของหนังสือราชการทั่วไป เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นงานเกี่ยวกับราชการ รวมทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีการใช้รูปครุฑในธงแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ เรียกว่า ธงมหาราช เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง ซึ่งเชิญขึ้นสู่ยอดเสา ณ พระราชวังที่มีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ นอกจากนั้น ยังมีครุฑที่อยู่ในขบวนเรือรบหลวง 3 ลำ ได้แก่ เรือครุฑเหินเห็จเป็นครุฑหัวโขน, รูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค และเรือครุฑเตร็จไตรจักร โดยเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค รวมทั้งเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
การใช้ตราครุฑในหน่วยงานเอกชน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 หน่วยงานเอกชนได้รับพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการของตนได้ ซึ่งเดิมมีการใช้เป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การตราพระราชทานนี้ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะสามารถพระราชทานให้หน่วยงานเอกชนได้ตามพระราชอัธยาศัย
โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานนี้จะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง, ช่างถ่ายรูป รวมทั้งผู้ที่ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นกิจการสำคัญต่อราชการแผ่นดิน โดยการใช้ตราพระราชทานนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อ พระราชวังเรียกคืนในกรณีที่ผู้รับพระราชทานเสียชีวิต เลิกประกอบกิจการนั้นหรือโอนให้ผู้อื่น รวมทั้งสำนักพระราชวัง เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิการใช้ตรานั้น เรื่องราวของพญาครุฑ เป็นตำนานที่กล่าวขานกันมานาน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโลกมนุษย์ สวรรค์ บาดาล รวมทั้งมีผลต่อความเชื่อทางศาสนาพุทธ และมีการนำมาใช้เป็นตราประจำแผ่นดิน แทนองค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงปัจจุบัน ถือว่าตำนานเรื่องพญาครุฑนี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเหมาะสำหรับเรียนรู้เพื่อสืบทอดสู่ชนรุ่นหลังอีกเรื่องหนึ่ง