การตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองไทยนั้น มีการตั้งชื่อตามนามมงคลบ้าง ตามชื่อบุคคลสำคัญในที่นั้นบ้าง รวมทั้งมีการตั้งชื่อตามประวัติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่นั้นด้วย เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ท้องทุ่งอันแสนกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 5 จังหวัด มีสิ่งที่ทำให้ชาวชนเผ่ากุลา ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งของพม่า ต้องมาร้องไห้ที่ทุ่งกุลาแห่งนี้ วันนี้เราจะพาคุณไปดูกันว่า ทำไมพื้นที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นทุ่งกุลาร้องไห้ ตำนานของทุ่งกุลาร้องไห้บอกไว้ว่าอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ
สภาพของทุ่งกุลาร้องไห้
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เพราะอยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และ ยโสธร มีส่วนที่ต่อเนื่องยาวมากที่สุด นับจากเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคามเรื่อยขึ้นไปทางตะวันออก และพื้นที่ที่กว้างที่สุดอยู่ในเขตอำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ โพนทราย รวมแล้วทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 847,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มาของชื่อทุ่งกุลาร้องไห้นั้น อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งในเขตอำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ด้วย
ด้วยสภาพที่เป็นทุ่งกว้าง เหลียวมองไปทางไหน รอบ ๆ ตัวมีแต่ทุ่งหญ้าจรดขอบฟ้า ซึ่งเมื่อประมาณ 60 – 70 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีต้นไม้เลยมีเพียงป่าหญ้าสูงเท่าหัวคนเท่านั้น ปัจจุบันหากไม่มีการปลูกเพิ่มเติม จะมีต้นไม้ขึ้นบ้างตามเนินสูงทั่วไป แต่ยังถือว่ามีน้อยอยู่และยังบางตามาก สภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นทุ่งไม่ราบเรียบและไม่เสมอกัน มีแอ่งสูงๆ ต่ำๆ มีลำห้วยเล็กใหญ่ไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำเสียวเล็ก ลำเสียวใหญ่ ลำเตา ลำพลับพลา ซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่สำคัญออกสู่ทุ่งและแม่น้ำมูลในฤดูฝน
โดยลำห้วยเหล่านี้จะเป็นดินทาม ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดมาก ส่วนฤดูฝนประชาชนมักจะเข้ามาจับปลาตามลำห้วยเหล่านี้ ในราวปี พ.ศ. 2460 แถบนี้มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด เช่น กวาง ละมั่ง อีเก้ง อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ รวมทั้งมีนกขนาดใหญ่ มาอาศัยอยู่มากมาย เช่น นกหงส์ นกกระเรียน นกกระทุง นกเป็ดน้ำ อยู่และหากินกันเป็นฝูง ซึ่งปัจจุบันภาพของสัตว์ป่าเหล่านั้นได้หายไปหมดแล้ว
ตำนานของทุ่งกุลาร้องไห้
มีตำนานเล่าว่าเมื่อหลายพันปีก่อน พื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้นี้ เคยเป็นทะเลสาบอันกว้างขวางสุดสายตา ซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่สักต้น เพราะน้ำอยู่ลึกมาก ต้นไม้ไม่อาจหยั่งรากถึง อีกทั้งยังเคยเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด ซึ่งสมัยนั้นมีเมืองที่สำคัญ คือ เมืองจำปาขัน หรือ เมืองจำปานาคบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลสาบ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของเทศบาล ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เจ้าผู้ครองนครเมืองจำปาขัน
พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองนครเมืองจำปาขัน มีธิดาอยู่องค์หนึ่ง ชื่อว่านางแสนสี และมีหลานสาวชื่อว่า คำแพง ทั้งสองเกิดและโตเป็นสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยมีรูปร่างหน้าตาสวยงามพอกัน เรียกว่างามคล้ายกับนางอัปสรก็ว่าได้ ทำให้พระราชารักเหมือนแก้วตาดวงใจ โดยได้จัดให้มีผู้อารักขาดูแลอย่างดี ชื่อว่า จ่าแอ่น เมื่อนางทั้งสองจะไปที่ใด จะมีจ่าแอ่นติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง ซึ่งในเมืองจำปานาคบุรีนี้ มีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่ง เป็นพญานาคที่มีฤทธิ์มาก ถ้าชาวเมืองได้รับความเดือดร้อน พญานาคที่ชื่อว่า นาคบุรี จะคอยช่วยเหลือชาวบ้านให้ผ่านพ้นความเดือดร้อนไปได้
แนะนำ…ตำนานป่าคำชะโนด เกาะศักดิ์สิทธิ์ ถิ่นพญานาคราช
ฝ่ายของเมืองบูรพานคร
ในสมัยเดียวกันนั้น มีอีกเมืองชื่อว่าเมือง บูรพานคร อยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบ มีโอรสชื่อว่า ท้าวฮาดคำโปง และมีหลานชายชื่อว่า ท้าวอุทร ทั้งสองเคยเรียนศิลปะศาสตร์วิชาจากสำนักเดียวกัน หลังจากเรียนจบแล้ว อาจารย์ต้องการให้ลูกศิษย์ลองวิชา และความสามารถหลังจากที่ได้เรียนมา จึงให้ลูกศิษย์ทั้งสองคนไปสู้กับพญานาคที่เมืองจำปานาคบุรี และได้บอกกับลูกศิษย์ทั้งสองว่า นาคที่จะไปสู้รบด้วยนั้นมีฤทธิ์มาก ขอให้ศิษย์ทั้งสองใช้วิชาที่เรียนมานั้น เอาชนะพญานาคให้ได้เป็นผลสำเร็จ ลูกศิษย์ทั้งสองจึงตกปากรับคำของอาจารย์ และกราบลาอาจารย์เพื่อไปยังเมืองจำปานาคบุรี
ไม่ทันได้ประลองวิชา เพราะมีเหตุน่าสนใจมากกว่า
เมื่อศิษย์ทั้งสองเดินทางออกจากสำนักไปยังเมืองจำปานาคบุรี ยังมิทันได้ประลองวิชาที่เรียนมา แต่ก็ต้องมาหยุดเสียก่อน เมื่อได้รู้ข่าวว่าเมืองจำปานาคบุรีแห่งนี้ มีธิดาและหลานสาวงดงามมาก ทำให้ชายทั้งสองคน ให้ความสนใจกับเรื่องสาวงามมากกว่าเรื่องทดลองวิชากับพญานาค จึงพยายามหาทางติดต่อกับนางทั้งสองคน แต่ยังไม่พบหนทางสำเร็จ เพราะนางทั้งสองมีผู้ดูแลรักษาอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้าไปติดต่อ แต่ไม่ได้ทำให้หนุ่มทั้งสองคนลดละความพยายามแม้แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้สืบทราบว่าทุก ๆ เจ็ดวันนางทั้งสอง จะพาบ่าวไพร่และผู้ดูแลออกไปเล่นน้ำทะเล จึงคิดจะใช้โอกาสนี้เพื่อนำวิชาที่ได้เรียนมา ช่วยทำให้ได้เข้าหานางทั้งสองคน
เมื่อนางแสนสี และนางคำแพงไปเล่นน้ำ
วันหนึ่ง พระนางทั้งสองและบริวารทั้งหลาย รวมทั้งจ่าแอ่นผู้ดูแลรักษา ได้พายเรือเพื่อลงไปเล่นน้ำ ท้าวทั้งสองจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดี จึงใช้คาถาเสกผ้าเช็ดหน้าให้กลายเป็นหงส์ทอง ลอยไปหน้าเรือของนางทั้งสอง นางทั้งสองเห็นอย่างนั้น จึงมีความคิดอยากจะได้หงส์ทองที่ลอยน้ำมา จึงได้วิงวอนให้ฝีพายเรือติดตามเอาหงส์ทองมาให้ได้ แต่ยิ่งพายเรือตามเท่าไหร่ หงส์ทองก็ยิ่งไกลออกไปทุกที หากฝีพายชะลอการพาย หงส์ทองก็ชะลอการลอยน้ำช้าลงตามด้วย เหมือนว่าจะจับตัวได้ แล้ว แต่เมื่อตามออกไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เรือของนางทั้งสองอยู่กลางทะเล ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรเห็นเป็นโอกาสดี จึงแล่นเรือสำเภาของตนที่จอดรออยู่แล้วออกสกัดหน้าเรือของนางทั้งสอง แล้วนำเอาตัวนางทั้งสองพร้อมด้วยบริวารขึ้นเรือสำเภาของตน จากนั้นแล่นไปในทะเลกว้างใหญ่
พระราชาเมืองจำปานาคบุรีให้พญานาคช่วย
เมื่อพระราชาแห่งเมืองจำปานาคบุรี ทราบข่าวว่าลูกสาวและหลานสาวหายไปจึงตกใจมาก แต่พระราชามีพญานาคเป็นสหาย และได้เคยสัญญากันไว้ว่า ถ้าเกิดศึกสงครามแก่บ้านเมืองให้ตีกลองชัยให้พญานาคได้ยินจะมาช่วยทันที ดังนั้นพระราชาจึงสั่งให้มหาดเล็กตีกลองชัย เมื่อพญานาคได้ยินเสียงกลองชัยนั้นจึงได้จัดกองทัพขึ้นมา แต่ไม่เห็นมีข้าศึกเลย จึงถามกับพระราชาว่า เหตุใดจึงตีกลองชัยทั้งที่ไม่มีข้าศึก พระราชาจึงบอกกับพญานาคว่า มีหนุ่มวิทยาคมสองคนได้ลักพาพระธิดาและหลานสาวทั้งสองหายไปในทะเลสาบ จึงอยากให้พญานาคช่วยเหลือ พญานาคจึงใช้คาถาร่ายมนต์ทำให้ทะเลสาบแห้งเหือดลงทันที จึงทำให้เรือสำเภาของท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทรแล่นต่อไปไม่ได้
จากนั้นท้าวทั้งสองจึงนำตัวนางทั้งสอง บริวารและจ่าแอ่นไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาดงแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ดงจ่าแอ่น ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของบ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า บ้านแจ่มอารมณ์ อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และนำนางแสนสีไปซ่อนไว้อีกดงหนึ่ง ต่อมาจึงชื่อว่าดงแสนสี และกลายเป็นบ้านแสนสี ส่วนนางคำแพงผู้เป็นหลานสาว ได้นำไปซ่อนอีกดงหนึ่งเช่นกัน ต่อมาดงนั้นจึงมีชื่อว่า ดงป่าหลาน และกลายเป็นที่ตั้งบ้านป่าหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคามในปัจจุบัน
แนะนำ…ตำนานปู่อือลือนาคราช ความรักระหว่างมนุษย์และนาคา
เมื่อน้ำทะเลแห้งขอดหมด
หลังจากที่พญานาคใช้คาถาทำให้น้ำทะเลแห้งหมดแล้ว ก็ทำให้สัตว์น้อยใหญ่ในทะเลล้มตายจำนวนมาก เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย เต่า และตะพาบน้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบนั้นก็ได้ตายลงหมด ทำให้มีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปถึงจมูกของพระอินทร์บนสวรรค์ พระอินทร์จึงทนกลิ่นเหม็นนั้นไม่ไหว จึงใช้นกอินทรีย์สองผัวเมียลงมากินซากสัตว์ที่ตายให้หมด หลังจากกินซากสัตว์นั้นผ่านไป เป็นเวลาหนึ่งเดือนจึงกินซากหมด จากนั้นได้ถ่ายมูลกองใหญ่ไว้ ทำให้มีชื่อเรียกว่า โพนขี้นกปรากฏอยู่ที่กลางทุ่งกุลาร้องไห้ บริเวณโรงเรียนบ้านโพรนครกน้อย ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ส่วนนกอินทรีย์เมื่อกินซากสัตว์ทั้งหมดแล้ว จึงไปทูลถามพระอินทร์ว่า จะให้กินอะไรต่อหลังจากที่กินซากสัตว์ไปหมดแล้ว ครั้นจะบอกให้ไปกินสัตว์ที่ยังมีชีวิต จะทำให้ผิดศีลขาด จึงมีอุบายให้นกอินทรีย์ทั้งสองว่า ให้ไปนอนฝันกินเอาเอง หากฝันเห็นอะไรให้ไปกินตามสิ่งที่ฝันนั้น นกอินทรีย์สองผัวเมียจึงฝันว่า ได้กินพญาช้างสาร จึงพากันไปยังดงใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบ เรียกว่า ดงน้ำเปียกซึ่งพญาช้างสารอาศัยอยู่ที่แห่งนั้น ดงน้ำเปียกตามภาษาเขมรจะตรงกับคำว่า ตะตึก แปลว่า เปียกน้ำ ในปัจจุบันจึงเรียกว่าดงสะตึก อำเภอสะตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งดงสะตึกมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มต่ำ อยู่ริมทะเลและยังมีช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก มีเจ้าโขลงช้างว่า พญาช้างสาร
นกอินทรีย์สองผัวเมียพบพญาช้างสาร
เมื่ออินทรีย์สองผัวเมีย ได้เจอกับพญาช้างสาร จึงพูดว่าพระอินทร์ให้ข้าพเจ้ามากินท่านเป็นอาหาร พญาช้างสารไม่เชื่อนกอินทรีย์ เพราะพระอินทร์จะไม่ทำอะไรที่เบียดเบียนสัตว์แบบนี้ มีแต่จะช่วยให้รอดพ้นจากทุกข์ พญาช้างสารจึงได้พูดว่า หากพวกเจ้าจะกินข้าก็ไม่เป็นไร แต่ขอผลัดผ่อนเวลาอีกสักวัน เพื่อจะได้ทูลถามพระอินทร์ให้รู้ความแน่นอนก่อน นกอินทรีย์สองผัวเมียจึงผ่อนผันเวลาให้พญาช้างสาร และพญาช้างสารได้ให้พญาช้างสนิทชื่อว่า เคล้าคลึง ไปทูลถามกับพระอินทร์แทนตน เมื่อพญาช้างเคล้าคลึง ไปถึงที่ประทับพระอินทร์จึงทูลถามว่า พระองค์ให้นกอินทรีย์ไปกินพระยาช้างสารเหรอ พระอินทร์ตอบว่า ข้าไม่ได้บอกนกอินทรีย์ไปกินพญาช้างสาร แต่ข้าให้นกอินทรีย์นอนฝันเสี่ยงทายสิ่งที่จะกินเอาเอง และกินตามความฝันนั้น นกอินทรีย์จะกินอะไรจึงไม่เกี่ยวกับพระอินทร์
เมื่อพญาช้างเคล้าคลึงได้ยินเช่นนั้น จึงทูลถามต่อว่า เมื่อคืนที่ฝันว่าได้นอนกับนางสุชาดา อัครมเหสีขององค์อินทร์ จะให้พญาช้างนอนร่วมกับนางได้หรือไม่ พระองค์มองเห็นความเสียเปรียบ หากตอบว่านอนได้ แต่ครั้งจะว่าไม่ให้นอนก็จะเสียสัตย์ พระอินทร์จึงนิ่งเฉยไม่ตอบอะไร แล้วเรียกนางรำมาฟ้อนรำให้พญาช้างเคล้าคลึงดูจนเกิดความเพลิดเพลิน ด้วยท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม กระทั่งเคลิ้มหลับไป ทำให้ลืมนัดหมายกับนกอินทรีย์ไว้ ดังนั้นนกอินทรีย์สองผัวเสียจึงกินพญาช้างสาร และคาบเอาเท้าไปทิ้งไว้ในดงเมืองศรีภูมิ ชื่อว่า ดงท้าวสารหรือดงช้างสาร ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนหัวนั้นคาบไปทิ้งไว้ที่บ้านหัวช้าง และได้ตั้งเป็นอำเภอหัวช้าง จากนั้นเมื่อท้าวพรมสุวรรณธาดา ปกครองจึงได้ย้ายไปที่ทำการใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอจตุรพักตร์พิมาน เพราะสาเหตุที่พระพรหมมีสี่หน้า จึงใช้ชื่อตามใบหน้าของพระพรหม
เมื่อนกอินทรีย์อยากกินมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ
หลังจากที่นกอินทรีย์ได้กินพญาช้างสารตามความฝันแล้ว จึงกำเริบเสิบสานอยากจะกินมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทำให้มนุษย์และสัตว์เกิดความยากลำบากในการเดินทางไปไหนมาไหน เพราะกลัวนกอินทรีย์จะกิน กระทั่งไม่เป็นอันทำมาหากิน ขณะนั้นเองพระพุทธเจ้าซึ่งประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงตรวจดูสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยพระญาณของพระองค์ ได้มองเห็นถึงความโหดร้ายของนกอินทรีย์สองผัวเมียนี้ และกำลังเบียดเบียนสัตว์โลกให้เกิดทุกข์อยู่ พระพุทธเจ้าจึงให้พระโมคคัลลานะ ผู้มีฤทธิ์มากมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความเดือดร้อน พระโมคคัลลานะพร้อมบาตรและจีวรจึงเหาะมุ่งหน้าสู่ดงท้าวสาร และพักที่ดงท้าวสาร แล้วเข้าฌาณเพ่งให้เกิดเป็นเพลิงลุกโพลงขึ้น ไปกระทบทรมานนกอินทรีย์ผัวเมียทั้งสอง ร้อนจนแทบขาดใจ ทำให้ส่งเสียงร้องดังไปถึงร้อยโยชน์สะเทือนถึงพื้นบาดาล
พญานาคได้ยินเสียงร้องของนกอินทรีย์สองผัวเมีย
เมื่อเสียงของนกอินทรีย์ทั้งสองได้ยินไปถึงเมืองบาดาล ทำให้พญานาคฝูงหนึ่งที่อาศัยอยู่ไม่ไกลจากดงท้าวสารนัก ได้ยินเสียงแปลกประหลาดสนั่นหวั่นไหว จึงคิดว่าจะมีภัยมาถึงฝูงตน จากนั้นได้โผล่ขึ้นมาจากพื้นบาดาล พ่นพิษออกเป็นควันมืดไปหมด พิษนั้นได้กระเด็นไปถูกตาของมนุษย์ที่อยู่ใกล้เคียงทำให้เป็นอันตราย บางคนถึงกับลูกตากระเด็นออกมา จึงได้ชื่อว่า บ้านตาเด็น ปัจจุบัน คือ บ้านตาเณร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยพิษของพญานาคที่มีรสเค็มจัดมากกว่าเกลือ ทำให้พระโมคคัลลานะ เข้าฌาณและทำเปลวเพลิงปิดปากบ่อไม่ให้พญานาคพ่นพิษออกมาได้ และกลัวว่าพญานาคจะขึ้นมาอีก จึงอธิษฐานเท้าซ้ายเหยียบที่ปลายจีวร ปัจจุบันยังมีร่องรอยเท้าคนขนาด 1 เมตร กว้าง 40 เซนติเมตร อยู่ระหว่างเนินย่าน้อยบริเวณบ่อพันขัน
จากนั้นอธิษฐานเท้าขวาเหยียบที่ชายจีวรห่างกันไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงปากน้ำลง ลำน้ำเสียว และมีรอยเท้าปรากฎให้เห็นกระทั่งปัจจุบันเช่นกัน แต่ทางราชการได้ปิดบ่อเป็นฝายกั้นน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมทั้งสองรอย ต่อมาจีวรของพระโมคคัลลานะ กลายเป็นแผ่นกชหินรูปจีวร และท่านเกรงว่าต่อไปประชาชนจะไม่มีน้ำจืดกิน จึงได้อธิษฐานใช้นิ้วชี้ชี้ลงไปตรงผ้าจีวรผืนนั้น ทำให้เกิดรอยแตกเท่าขันน้ำรัศมีกว้าง 9 นิ้ว ลึกประมาณ 8 นิ้ว มีน้ำไหลออกมาต่อเนื่อง ชาวบ้านเรียกว่า น้ำสร่างโครก เพราะมีลักษณะเหมือนครกตำข้าว และบริเวณทั้งหมดนั้นเรียกว่า บ่อพันขัน
พระโมคคัลลานะปราบพญานาคสำเร็จ
เมื่อพระโมคคัลลานะปราบพญานาคได้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย และกลับไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กระทั่งนิพพานท่านไม่ได้กลับมาถิ่นแถบนี้อีกเลย เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการนิพพานของพระโมคคัลลานะ จึงได้พากันไปอัญเชิญอัฐิธาตุ มาทำสถูปบรรจุไว้ที่ดงเท้าสาร ปัจจุบันสันนิษฐานว่าอัฐิของพระโมคคัลลานะนั้น อยู่ที่วัดกลาง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้มาช้านาน
เมื่อท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรได้นางแสนสีและนางคำแพงเป็นเมีย
เมื่อท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร ได้นางแสนสีและนางคำแพงเป็นเมียแล้ว ท้าวทั้งสองเกิดขัดใจกัน จึงชิงดีชิงเด่นกัน เพราะเกิดรักนางแสนสีเหมือนกัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดการรบกันทำให้ท้าวฮาดคำโปงเป็นฝ่ายแพ้ ถูกท้าวอุทรฟันคอตาย จึงกลายเป็นผีหัวแสง หรือผีทุ่งศรีภูมิ เฝ้าทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้ไม่มีใครกล้าออกบ้านตอนกลางคืน เพราะจะเห็นผีหัวแสง เป็นแสงคล้ายตะเกียงเจ้าพายุพุ่งขึ้นและออกมาไล่สกัดชาวบ้าน เจ้าเมืองจำปานาคบุรีรู้เรื่องดังกล่าว จึงสงสารและให้อภัยโทษ โดยจัดให้ข้าราชบริพารไปพานางทั้งสองและท้าวอุทรกลับเข้าเมืองจำปานาคบุรี และประทานไพร่พลให้กับท้าวอุทร ไปสร้างเมืองเท้าสารขึ้นใหม่ และยกนางแสนสีให้เป็นมเหสีด้วย
เมื่อทะเลกลายเป็นท้องทุ่งอันกว้างใหญ่
หลังจากทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ได้กลายเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ ทำให้มองเห็นดินจรดขอบฟ้า เป็นสภาพแบบนี้มานานเท่าไหร่ไม่มีใครทราบแน่นอน แต่มีคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่สืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีแล้ว มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างเมือง ทั้งเมืองใกล้และไกล ทั้งมีพ่อค้าหาบสินแร่มาขายตามหมู่บ้านนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะฤดูแล้งจะมีพ่อค้ามาขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้มาก
ชาวเผ่ากุลามาทำการค้าขายสินค้า
มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งชื่อว่า เผ่ากุลา ได้นำสินค้ามาเร่ขาย โดยมาเป็นหมู่ละ 20 – 30 คน สิ่งที่นำมาขายเป็นสีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถม ลวดลายไม้ไผ่ทาสีลงรักสวยงาม มีลักษณะคล้ายกระติ๊บข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมใช้ในการใส่บุหรี่และหมากพลู ชาวกุลาจะนำสินค้าใส่ถังใบใหญ่ที่เรียกว่า ถังกระเทียว ใส่สินค้ามาขาย และมาหาบเร่ขายของ ซึ่งการมาครั้งหนึ่งๆ ก็จะอยู่เวลานานเป็นปี ขายหมดแล้วก็ซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อยๆ
เมื่อชาวกุลาหลงทางกระทั่งเทสินค้าทิ้ง
ครั้งหนึ่งมีชาวกุลาพวกหนึ่งที่มาเร่ขายสินค้า โดยหาบเร่ขายสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมากระทั่งจนถึงอำเภอท่าตูมจังหวัดสุรินทร์ พวกกุลาได้ซื้อครั่งไว้เป็นจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ แต่พอหาบข้ามแม่น้ำมูล แล้วมาถึงทุ่งอันกว้างใหญ่ จึงหาทางที่จะเป็นทางลัดไปสู่เมืองป่าหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นทางที่กุลาพวกนี้ยังไม่เคยมา ทำให้ไม่รู้ทางที่แท้จริง เพียงแค่มองเห็นเมืองป่าหลานอยู่ไกลๆ และคิดว่าใกล้เหมือนตาเห็น แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเห็น เพราะระยะทางไกลกว่าที่เห็น ในขณะเดินข้ามทุ่งนั้นรู้สึกเหนื่อยล้ามาก บวกกับเป็นช่วงฤดูแล้ง น้ำดื่มไม่มี ต้นไม้อาศัยร่มเงาก็ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว แดดร้อนจัด ทำให้พวกกุลานี้เกิดอิดโรย จะทิ้งครั่งที่หาบมาก็เสียดาย จึงพากันร้องไห้โอดครวญว่าคงเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่แน่นอน แล้วก็พากันร้องไห้ จากนั้นหายเหนื่อยจึงเดินทางกันต่อไป แต่พวกกุลาลดความหนักลงด้วยการเทครั่งน้อย ที่ขายไม่ได้ราคาทิ้งไปบ้างเพื่อให้เบาขึ้นอีก ทำให้มีหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด หลังจากเดินต่อไปอิดโรยมากขึ้น จึงได้เทครั่งใหญ่ที่ขายได้ราคาดีทิ้งทั้งหมด และเหลือไว้เฉพาะอาหารเท่านั้น
บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งใหญ่ทั้งหมดทิ้งนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ ดงครั่งใหญ่ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อเดินผ่านทุ่งแล้ว พวกกุลาเข้าสู่หมู่บ้าน มีคนในหมู่บ้านมามุงดู และซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าขายให้กับชาวบ้านแล้ว ชาวกุลาจึงทำได้แต่เพียงเสียใจ และเสียดายสินค้าที่ได้เททิ้งไปกลางทุ่ง พวกกุลาจึงต้องร้องไห้อีกครั้ง ทำให้เป็นที่มาของชื่อทุ่งอันกว้างใหญ่นี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ กระทั่งถึงปัจจุบัน จากตำนานของทุ่งกุลาร้องไห้ที่นำเสนอมานั้น จะเห็นถึงข้อคิดสติเตือนใจทางพระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น การอยู่ในศีลธรรม ไม่เบียดเบียนกันและกัน จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อีกทั้งความขยันหมั่นเพียร ความมุมานะของคนชาวกุลา เป็นตัวอย่างของความไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ว่าชีวิตจะมีเรื่องอะไรเข้ามา เมื่อมีจิตใจเข้มแข็งสิ่งร้ายๆ นั้นจะผ่านพ้นไปเอง ดังนั้นตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ จึงเป็นอีกตำนานคู่กับสังคมไทย ที่ใช้สอนคนรุ่นต่อๆ มาได้เป็นอย่างดี
แนะนำ…ประวัติบึงโขงหลง แหล่งชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่งจังหวัดบึงกาฬ